LANNA365

มทร.ล้านนา ลงนามความร่วมมือ บริษัทกรีนเทค โอโซน โซลูชั่น สตาร์ทอัพ BCG Boost up จาก สวทช. พัฒนานวัตกรรมซักอบรีดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

Spread the love

มทร.ล้านนา ลงนามความร่วมมือ บริษัทกรีนเทค โอโซน โซลูชั่น สตาร์ทอัพ BCG Boost up จาก สวทช. พัฒนานวัตกรรมซักอบรีดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้บริการเช่าผ้าแบบ pay per use ตอบโจทย์ธุรกิจโรงแรมเชียงใหม่ กว่า 1,500 ห้องต่อวัน

วันที่ 6 กรกฎาคม 2565 เวลา 10.30น. ที่โรงแรมอีสทีน เชียงใหม่ ผศ.ดร.จัตตุฤทธิ์ ทองปรอน รักษาราชการแทนอธิการบดี มทร.ล้านนา ร่วมกับ นายภิญโญ สุขทัต กรรมการผู้จัดการ บริษัทกรีนเทค โอโซน โซลูชั่นจำกัด ได้​จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(MOU) เพื่อส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมภายใต้ BCG Model(Bio-Circular-Green Economy) โดยมี คุณชัยยศ จินดารัตนะ รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชียงใหม่ ร่วมเป็นสักขีพยาน

นายภิญโญ สุขทัต กรรมการผู้จัดการ บริษัทกรีนเทค โอโซน โซลูชั่นจำกัด เปิดเผยว่า บริษัท กรีนเทค โอโซน โซลูชั่น จำกัด เริ่มก่อตั้งปี 2558 เป็นธุรกิจให้บริการซักอบรีดให้กับภาคธุรกิจโรงแรม ปัจจุบันได้เพิ่มการให้บริการเช่าผ้าจ่ายแบบ PAY PER USE เพื่อลดภาระให้กับผู้ประกอบการโรงแรมด้วยทีมวิจัยและพัฒนาที่มี ประกอบกับการสนับสนุนและผลักดันธุรกิจ Start up จากภาครัฐผ่านหน่วยงาน อาทิ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.), สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) และการบรรลุข้อตกลงความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาด้านการวิจัยและพัฒนาทางวิชาการและเทคโนโลยีภายใต้ BCG Model ทำให้บริษัทฯมีนวัตกรรมเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางธุรกิจ เช่น ระบบการซักผ้าด้วยเทคโนโลยีโอโซนไม่ใช้สารเคมีและประหยัดพลังงาน, นวัตกรรมติดตามผ้า(Smart Linen) และบริหารสต็อค, ระบบบำบัดและรีไซเคิลน้ำ, รวมทั้งเทคโนโลยี IOT โดยมุ่งเน้นให้ลูกค้าและสังคมยอมรับและเลือกใช้บริการ เพื่อนำไปสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน


นายภิญโญ กล่าวต่อไปอีกว่า ปัจจุบันบริษัทฯได้เปิดให้บริการในจังหวัดเชียงใหม่ และขยายสาขาการให้บริการในจังหวัดกระบี่(อ่าวนาง-ไร่เลย์) ซึ่งจะแล้วเสร็จเดือนตุลาคมปี 2022 โดยในจังหวัดเชียงใหม่เราดำเนินการสร้างโรงงานซักอบรีดขนาดกำลังการซัก 2 ตันต่อวัน เพื่อรองรับปริมาณลูกค้าโรงแรมที่สนใจหันมาใช้บริการเช่าผ้าแบบ(pay per use)มากกว่า 1,500 ห้องต่อวัน ซึ่งจะทำให้ลดการใช้สารเคมีในการซักผ้าในจังหวัดเชียงใหม่ลงไปถึง 10 ตันต่อปี ลดการใช้น้ำในกระบวนการซักผ้าได้ถึง 3 ล้านลิตรต่อปี ทั้งนี้บริษัทยังมีเป้าหมายขยายพื้นที่ให้บริการให้ครบ 10 สาขาภายในระยะเวลา 5ปี โดยเน้นไปยังจังหวัดท่องเที่ยวหลักที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ เพื่อลดการปล่อยสารเคมีลงสู่ธรรมชาติและลดการนำเข้าสารเคมีอีกทางหนึ่งด้วย

ทางด้านผศ.ดร.จัตตุฤทธิ์ ทองปรอน รักษาราชการแทนอธิการบดี มทร.ล้านนา กล่าวถึงความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้ว่า “โครงการนี้ถือเป็นโครงการที่ดีของมหาวิทยาลัยอีกหนึ่งโครงการ ที่เป็นการร่วมมือกันกับบริษัท กรีนเทค โอโซน โซลูชั่น จำกัด ในการที่จะนำนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยฯ ที่เกี่ยวข้องกับงานด้าน BCG เอาไปต่อยอดในเชิงธุรกิจ การร่วมมือในครั้งนี้จะสร้างองค์ความรู้ การบริการทางวิชาการ การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับประเทศไทย สร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ให้กับชุมชน สังคม การร่วมมือกันระหว่างบริษัท กรีนเทค โอโซน โซลูชั่น จำกัด และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จึงถือเป็นการนำเอาเทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรมให้เกิดการนำไปใช้อย่างกว้างขวางในประเทศไทย และเชื่อว่าถ้าเราพัฒนาได้จะสามารถนำมาใช้ในภาคพื้นเอเชียได้ อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เราภาคภูมิใจที่ทางบริษัทได้จับมือกับทางมหาวิทยาลัย จัดสร้างโครงการนี้ขึ้นมา”

สำหรับความร่วมมือในโครงการนี้ จะมีทั้งการพัฒนากำลังคน นั่นคือนักศึกษาที่จะได้ไปเรียนรู้การปฏิบัติงาน ทั้งทางด้านวิศวกรรม และด้านธุรกิจกับบริษัท กรีนเทค โอโซน โซลูชั่น จำกัด ในขณะเดียวกันทางบริษัทฯเอง ก็จะได้มาฝึกอบรมในด้านวิชาการกับทางมหาวิทยาลัยฯ ซึ่งเราได้จัดหลักสูตรการฝึกอบรมต่างๆ กระบวนการสร้างนวัตกรรม เป็นต้น และอีกส่วนหนึ่งคือ องค์ความรู้ที่เป็นแนวปฏิบัติในด้านการออกแบบ การติดตั้ง และซ่อมบำรุง ซึ่งจะทำอย่างไรให้เป็น Knowhow ร่วมกันของมหาวิทยาลัยฯ และบริษัทฯ รวมไปถึงการพัฒนาเทคโนโลยีและการวิจัยใหม่ๆ ซึ่งมองว่าจะเกิดขึ้นกับทาง Eco-Tech และมหาวิทยาลัย ซึ่งจะเกิดจากการร่วมมือกันในการทำ MOU ครั้งนี้ ซึ่งหลังจากนี้ก็จะมีการทำแผนการดำเนินการรวมไปถึงการจัดกิจกรรมในอีกหลายๆ กิจกรรม

รักษาราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา กล่าวด้วยว่า โครงการความร่วมมือนี้จะเน้นในภารกิจ 3 ส่วน ได้แก่ การสอน การฝึกอบรม และการวิจัยงานบริการด้าน BCG โดยเน้นเรื่องการวิจัยพลังงานสะอาด รวมไปถึงพลังงานทดแทนประเภทอื่นๆ อาทิ พลังงานจากแสงอาทิตย์ พลังงานทดแทนจากกังหันลม เทคโนโลยีชีวมวล และเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้แก่ แบตเตอรี่ ยานยนต์ไฟฟ้า การบำบัดน้ำเสีย การดูแลสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ที่สำคัญได้นำเทคโนโลยีเหล่านี้ไปใช้ในชุมชน ด้านการเกษตรและสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้งานที่เกี่ยวข้องกับ BCG ทางมหาวิทยาลัยฯ มีหน่วยวิจัยระบบพลังงานสะอาด เป็นหน่วยที่พัฒนากำลังคนและองค์ความรู้ทางด้าน BCG model แต่ด้วยยังเป็นเพียงภาควิชาการหรือภาคทฤษฎี ดังนั้นภารกิจสองส่วนในภาคเอกชนและภาควิชาการได้มาจับมือร่วมกัน จะทำให้เกิดเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เกิดมาจากแนวคิดของคนไทย เกิดจากสถาบันการศึกษาร่วมกับหน่วยงานเอกชน ซึ่งทำให้เกิดประโยชน์ในด้านการลดต้นทุนในการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ และเป็น Knowhow ของคนไทยนั่นเอง

นายภิญโญ สุขทัต กรรมการผู้จัดการ บริษัทกรีนเทค โอโซน โซลูชั่นจำกัด กล่าวเสริมด้วยว่า กิจกรรมนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นการเสริมทัพให้กับบริษัท กรีนเทค โอโซน โซลูชั่น จำกัดเพื่อยกระดับขึ้นไปอีกขั้นนึง การนำองค์ความรู้ต่างๆ ไปต่อยอดเพื่อให้ประชาชนทั่วไป ได้รับสินค้าและการบริการที่เหนือมาตรฐานขึ้นมา ซึ่งถือเป็นหน้าที่ที่สำคัญของบริษัทเรา เช่นกันในมุมมองของมหาวิทยาลัยฯ ก็จะได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนไม่ว่าจะเป็นกองทุน หรืองานวิจัย เพื่อให้สอดคล้องกับ Customer need หรือสิ่งที่ประชาชนต้องการ การคาดหวังกิจกรรมในครั้งนี้จะนำเราก้าวไปข้างหน้าอีกขั้นหนึ่ง.

Exit mobile version