เศรษฐกิจ » สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ฯ จัดงาน BDI สัญจร 2025 พลิกโฉมเมืองด้วย Big Data & AI ครั้งที่ 2 ที่ จ.เชียงใหม่ ผลักดันการใช้ข้อมูลเพื่อยกระดับเมือง สังคม และคุณภาพชีวิตของชาวเชียงใหม่

สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ฯ จัดงาน BDI สัญจร 2025 พลิกโฉมเมืองด้วย Big Data & AI ครั้งที่ 2 ที่ จ.เชียงใหม่ ผลักดันการใช้ข้อมูลเพื่อยกระดับเมือง สังคม และคุณภาพชีวิตของชาวเชียงใหม่

25 เมษายน 2025
30   0

Spread the love

BDI สานต่อความสำเร็จการจัดงาน “BDI สัญจร 2025 พลิกโฉมเมืองด้วย BIG DATA & AI” หนุนขยายองค์ความรู้ด้านข้อมูลขนาดใหญ่และปัญญาประดิษฐ์ สู่ภูมิภาค เดินหน้าจัดกิจกรรรม ครั้งที่ 2 ณ จังหวัดเชียงใหม่ตั้งแต่วันที่ 25 – 27 เมษายน 2568 ระหว่างเวลา 11.00 น. – 19.00 น. ณ ลานกิจกรรม ชั้น 1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล เชียงใหม่ โดยเมื่อวันที่25 เมษายน. นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในงาน BDI สัญจร 2025 พลิกโฉมเมืองด้วย Big Data & AI ครั้งที่ 2

 

สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) หรือ BDI หน่วยงานในสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) จัดงาน “BDI สัญจร 2025 พลิกโฉมเมืองด้วย BIG DATA & AI” ครั้งที่ 2 ณ จังหวัดเชียงใหม่ เดินหน้าเสริมสร้างองค์ความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) พร้อมมุ่งยกระดับเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวเชียงใหม่ พบกับกิจกรรมการเรียนรู้ Big Data และ AI กุญแจสำคัญในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) รวมถึงการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยข้อมูลและการตัดสินใจเชิงนโยบายที่แม่นยำผ่านการส่งเสริมการใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ พร้อมทำความรู้จักกับภารกิจของ BDI ที่จะบูรณาการขับเคลื่อนจังหวัดเชียงใหม่ในมิติต่างๆ ตลอดจนกิจกรรมเสวนากับผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายหัวข้อเพื่อการพัฒนาเมืองเชียงใหม่อย่างยั่งยืนด้วย Big Data และ AI และร่วมสนุกกับกิจกรรม Edutainment ที่ทั้งสนุกและเติมเต็มความรู้ เข้าร่วมงานได้ฟรี ระหว่างวันที่ 25 – 27 เมษายน 2568 เวลา 11.00 – 19.00 น. ณ ลานกิจกรรม ชั้น 1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล เชียงใหม่

นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่มีความพร้อมในการประยุกต์ใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ในการกำหนดนโยบายและวางแผนพัฒนาเมืองในทุกมิติ โดยเชื่อมั่นว่าการใช้ข้อมูลอย่างเป็นระบบและแม่นยำจะช่วยให้การบริหารงานของภาครัฐมีความโปร่งใส ถูกต้อง รวดเร็วและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น


ข้อมูลจะมีคุณค่าอย่างแท้จริงเมื่อสามารถนำมาวิเคราะห์และต่อยอดเพื่อวางแผนรับมือกับความท้าทาย ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยว สุขภาพ และการพัฒนาเมืองในระยะยาว จังหวัดเชียงใหม่จึงให้ความสำคัญกับการสร้างวัฒนธรรมการใช้ข้อมูลในทุกระดับ เพื่อให้การตัดสินใจของหน่วยงานรัฐมีความแม่นยำ และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวเพิ่มเติม


สำหรับการจัดกิจกรรม BDI สัญจร 2025 พลิกโฉมเมืองด้วย Big Data และ AI ขึ้นในจังหวัดเชียงใหม่ จึงนับเป็นเวทีสำคัญในการส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจ และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและภาคธุรกิจในการใช้ข้อมูลอย่างสร้างสรรค์ พร้อมทั้งแสดงความเชื่อมั่นว่า งานครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการยกระดับการพัฒนาเมืองด้วย Big Data และ AI อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป นายแพทย์ธนกฤต จินตวร ผู้บริหารกิจการพิเศษ สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ เปิดเผยว่า BDI มีภารกิจสำคัญในการกำหนดยุทธศาสตร์การใช้ประโยชน์จากข้อมูล ที่ผ่านกระบวนการวิเคราะห์ มาขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในมิติต่างๆ รวมถึงบทบาทในการส่งเสริมให้เกิดความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับ Big Data เพื่อให้ประชาชนคนไทยทุกภาคส่วนสามารถนำเทคโนโลยีดังกล่าวไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด จึงได้กำหนดจัดงาน BDI สัญจร 2025 พลิกโฉมเมืองด้วย BIG DATA & AI เพื่อเป็นกิจกรรมสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ Big Data และ ทำความรู้จักกับเทคโนโลยี AI ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการนำข้อมูลมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม
“การจัดงาน BDI สัญจร 2025 พลิกโฉมเมืองด้วย BIG DATA & AI ณ จังหวัดเชียงใหม่ ในครั้งนี้ เป็นการจัดงานครั้งที่ 2 หลังจากได้ผลตอบรับอย่างดีจากจังหวัดนครราชสีมา โดยจังหวัดเชียงใหม่ นับเป็นศูนย์กลางของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือทั้งในด้านเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว ทั้งนี้ BDI ได้เข้ามาดำเนินงานร่วมกับเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนภายในจังหวัดเชียงใหม่ ในการเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในหลายๆ โครงการ อาทิ


ความร่วมมือโครงการ Envi Link ของสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) กับ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.), สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) (สวพส.), สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (สทอภ.) และ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) จากการสนับสนุนงบประมาณด้วยทุนวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ภายใต้การจัดการของ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในช่วงเดือนมีนาคม 2567 – มิถุนายน 2568 เพื่อจัดทำ โครงการพัฒนาระบบบัญชีข้อมูลและต้นแบบการบูรณาการข้อมูลฝุ่น PM 2.5 โดยมีเป้าหมายในการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM 2.5 เพื่อนำไปใช้สนับสนุนการจัดการคุณภาพอากาศอย่างเป็นระบบ

ซึ่งโครงการนี้ได้รวบรวมข้อมูลจากหลากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการฝุ่น PM 2.5 ด้วยการจัดเก็บเป็นบัญชีข้อมูล (Data Catalog) พร้อมทั้งให้บริการแดชบอร์ดนำเสนอการวิเคราะห์ข้อมูลฝุ่นในหลายมิติ โดยมุ่งหวังที่จะสร้างความร่วมมือข้าม ภาคส่วน เพื่อป้องกันและลดปัญหามลพิษทางอากาศ นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน และในปัจจุบันอยู่ในช่วงการขยายผลอย่างต่อเนื่องโดยได้ร่วมกับทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในปี 2568 เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการลดฝุ่น PM 2.5 ใน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนอีกด้วย


ทั้งนี้ โครงการแพลตฟอร์มบริการข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับพื้นที่เมืองอัจฉริยะ หรือ Envi Link เป็นแพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงข้อมูลสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย ด้วยการสนับสนุนการวางแผนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม อากาศสะอาด และลดคาร์บอนฟุตพริ้นต์โดยรวบรวมข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกว่า 30 องค์กร มากกว่า 200 ชุดข้อมูลผ่านเว็บไซต์ https://envilink.go.th ซึ่งปัจจุบันแพลตฟอร์ม Envi Link มีผู้เข้าชมเกือบ 50,000 ครั้ง และได้พัฒนาแดชบอร์ดที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมไปแล้วกว่า 15 แดชบอร์ด อาทิ แดชบอร์ดแสดงคุณภาพอากาศจากค่าฝุ่น PM2.5 ย้อนหลัง 24 ชั่วโมง, แดชบอร์ดรายงานตัวชี้วัดการจัดการปัญหาฝุ่นรายจังหวัด, แดชบอร์ดอธิบายการเปรียบเทียบพื้นที่ที่มีการขอใช้ไฟผ่านระบบ Fire-D และพื้นที่เผาไหม้จริงจากภาพถ่ายดาวเทียมในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น

นอกจากนี้ BDI ร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ด้วยการนำเสนอแพลตฟอร์ม Travel Link ภายในงานประชาสัมพันธ์การดำเนินงานของ ททท. ด้านดิจิทัล วิจัยและพัฒนา โดยมีผู้ประกอบการการท่องเที่ยว ชุมชนท่องเที่ยว หน่วยงานภาครัฐและเอกชนในจังหวัดเชียงใหม่เข้าร่วมกว่า 50 ราย ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการวิเคราะห์และวางแผนการส่งเสริมการตลาดของนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศของผู้ประกอบการการท่องเที่ยว รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน และในเดือนมีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ได้จัดประชุมและสัมภาษณ์เชิงลึกเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านข้อมูลการท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดเซียงใหม่ เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศด้วยการบูรณาการและแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการท่องเที่ยวจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาใช้เป็นฐานข้อมูลกลางในการให้บริการ เช่น ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวผ่านการพัฒนาแพลตฟอร์มข้อมูลอัจฉริยะด้านการท่องเที่ยวแห่งชาติ (National Tourism Intelligent Platform : Travel Link) เพื่อให้ผู้ใช้งานทั้งภาครัฐและเอกชนสามารถเพิ่มขีดความสามารถ และสร้างโอกาสด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ความร่วมมือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 1 เชียงใหม่ ภายใต้โครงการ Health Link แพลตฟอร์มเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพระหว่างสถานพยาบาลทั่วประเทศ ที่ช่วยให้แพทย์สามารถดูประวัติการรักษาได้ทันที สะดวก ง่าย ปลอดภัยด้วยการยืนยันตัวตนของประชาชนและแพทย์ ผ่านการเข้ารหัสข้อมูลและระหว่างจัดส่งข้อมูล รวมถึงการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ป่วยอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ โดยปัจจุบัน Health Link มีสถานพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 1,500 แห่งทั่วประเทศ โดยในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ได้มีการเชื่อมโยงข้อมูลไปแล้วรวมกว่า 10 แห่ง และกำลังขยายให้ครอบคลุมทุกหน่วยบริการในระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ ในพื้นที่ สปสช. เขต 1 อีกกว่า 2,000 แห่ง ส่งผลให้ประชาชนเกิดการรักษาแบบไร้รอยต่อ พร้อมพัฒนากลไกการใช้ประโยชน์จากข้อมูล Health Link อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้การเชื่อมต่อข้อมูลที่มีความยั่งยืนและเกิดประโยชน์สูงสุดกับทุกภาคส่วนต่อไป และยังสามารถตอบสนองนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ทำให้ชาวเชียงใหม่เข้าสู่ระบบสาธารณสุขได้ทุกรูปแบบ และแพทย์สามารถดูประวัติการรักษาข้ามสถานพยาบาลนอกสังกัด ที่ต้องได้รับการอนุญาตจากผู้ป่วย ซึ่งจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยในการตรวจวินิจฉัยที่ซ้ำซ้อน และสามารถได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องและทันท่วงที

สำหรับกิจกรรม BDI สัญจร 2025 พลิกโฉมเมืองด้วย BIG DATA & AI ครั้งที่ 2 เชียงใหม่ ได้นำเสนอนิทรรศการ ในรูปแบบ Interactive ด้าน Big Data และ AI รวมถึงสร้างการรับรู้เกี่ยวกับบทบาทภารกิจของ สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) ตลอดจนกิจกรรมการบรรยายและการเสวนาพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญจากเครือข่ายความร่วมมือในพื้นที่เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมอง แบ่งปันองค์ความรู้และแสวงหาความร่วมมือในรูปแบบต่างๆ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาต่อยอดการดำเนินงานให้เกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้น “การใช้ข้อมูลขนาดใหญ่และเทคโนโลยี AI เพื่อสิ่งแวดล้อมเมืองเชียงใหม่” โดย ดร.ศรัณธร ภู่สิงห์ หัวหน้าโครงการ Envi Link, ดร.ปฏิภาณ แสงเดือน นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) และ ดร.ประภัสสร พันธ์สมพงษ์ ที่ปรึกษาการวิเคราะห์ข้อมูลภูมิสารสนเทศโครงการ Envi Link, การเสวนาหัวข้อ “Big Data และวิถีชีวิตคนเมืองเชียงใหม่” โดย รศ. ดร.จักรพงศ์ นาทวิชัย ผู้อำนวยการสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ผศ. ดร.ชาย รังสิยากูล ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเมืองอัจฉริยะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ดร.พีรดล สามะศิริ ผู้จัดการโครงการและนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลอาวุโส สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) เป็นต้น

 

นอกจากนี้ภายในงาน ยังได้จัดกิจกรรม BDI JOURNEY ที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานได้เรียนรู้และพัฒนาทักษะด้าน Big Data และ AI ผ่านสื่อการเรียนรู้แบบ Interactive ที่ผู้เข้าร่วมงานจะได้ร่วมสนุกพร้อมรับความรู้จาก BDI โดยผู้สนใจสามารถ เข้าร่วมงาน BDI สัญจร 2025 พลิกโฉมเมืองด้วย BIG DATA & AI ครั้งที่ 2 เชียงใหม่ ได้ฟรีตลอดการจัดงาน ตั้งแต่วันที่ 25 – 27 เมษายน 2568 ระหว่างเวลา 11.00 น. – 19.00 น. ณ ลานกิจกรรม ชั้น 1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล เชียงใหม่ สามารถติดตามอัปเดตข้อมูลและกิจกรรมต่างๆ ของสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) หรือ BDI ได้ทางเว็บไซต์ https://bdi.or.th/ และ Facebook: BDI – Big Data Institute