ศูนย์อนุรักษ์ช้างปางช้างแม่สา อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ นำปู่พลายบุญเป็ง วัยกว่า 65 ปี เข้าสู่บ้านพักช้างชรา เพื่อพักผ่อนเต็มที่
ที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย ในปางช้างแม่สา อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เมื่อเวลา 14.00 น.ของวันที่ 28 เมษายน 2568 นางรัตนา ศรีหมอก ผู้จัดการทั่วไปปางช้างแม่สา พร้อมควาญช้างได้นำช้างพลาย ปู่บุญเป็ง วัยกว่า 65 ปี เข้าสู่บ้านพักช้างสูงวัย เพื่อให้ไปอยู่ในความดูแลของทีมงานควาญช้างบ้านพักช้างชรา เนื่องจากเริ่มมีอาการอ่อนล้าและล้มป่วยลงบ่อยครั้ง หลังจากใช้ชีวิตอยู่ตามป่าอย่างเป็นธรรมชาติมานานหลายปี
จากนี้ไปควาญช้างของพลายบุญเป็งจะต้องฝึกในเรื่องการบริบาลช้างสูงวัยตามที่ควรจะเป็น โดยช้างจะมีเวลาพักผ่อน และมีเวลากินมากขึ้น โดยมีสัตวแพทย์แวะเวียนมาตรวจบ่อยขึ้นด้วย ช้างแก่จะได้รับอาหารเสริม กล้วยสุก วิตามินเกลือแร่ต่างๆจนสิ้นอายุขัย
หลังจากที่ปางช้างแม่สาเพิ่งสูญเสียช้างพลายจ่าฝูง”พลายคำหมื่น งาอ้อมจักรวาล”วัย 90 ปี ไปไม่นานนี้ ช้างพลายบุญเป็ง จึงถือว่าเป็นช้างสูงวัยที่รองลงมา สมควรย้ายเข้าสู่บ้านพักช้างชราเพื่อให้ได้รับการดูแลอย่างเต็มที่ในช่วงบั้นปลายของชีวิต
ในเรื่องนี้ทาง นางอัญชลี กัลมาพิจิตร ผู้บริหารปางช้างแม่สา และศูนย์อนุรักษ์ช้างปางช้างแม่สา ได้เผยว่า อยากจะทำความเข้าใจให้กระจ่างเรื่องการบริหารจัดการช้างในปางช้างแม่สาที่ตั้งอยู่คู่เมืองเชียงใหม่และยังเป็นสถานที่เลี้ยงช้างมายาวนานจะร่วม 50 ปีแล้ว ฉะนั้นในปางช้างแม่สา จึงมีช้างชราจำนวนมากกว่า 12 เชือก จนปางช้างแม่สา ต้องเปิดโซนช้างสูงวัยขึ้นมา เพื่อที่จะยืดอายุช้างออกไป โดยช้างตามธรรมชาติจะมีฟันจำนวน 6 ชุด พอฟันชุดที่ 6 หลุดไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นช้างป่าหรือช้างบ้าน การกินอาหารของช้างจะทำได้ยาก ทำให้ช้างนั้นล้มไปในที่สุด ช้างที่ไม่ได้รับการช่วยเหลือจากมนุษย์จึงมีสภาพอ่อนแรงอยู่รอความตายอย่างเดียว แต่ที่บ้านพักช้างสูงวัยของเรา มีระบบดูแลในเรื่องอาหารเป็นพิเศษ คือทางเราได้ซื้อเครื่องบดหญ้ามาไว้หลายเครื่องเพื่อบดหรือสับหญ้าให้ช้างกิน ช้างที่มีฟันเหลือน้อย หรือไม่มีฟันเลยก็สามารถที่จะกลืนอาหารที่เราทำขึ้นมาเข้าไป ทำให้ยืดอายุออกไปได้ ทุกเช้าจะมีการบดหญ้าผสมอาหารเม็ดลงไปเพื่อเติมแร่ธาตุวิตามินคลุกเคล้าด้วยกล้วยสุก ทำการแจกจ่ายไปยังคอกของช้าง โดยช้างชราจะกินอาหารอย่างช้าๆ กาละมังหนึ่งใบใหญ่ๆ ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง กินแบบกระเด็นไปทั่วเต็มพื้น ทำให้การบริโภคอาหารไม่เต็ม100 เปอร์เซ็นต์ จึงต้องให้วันละหลายครั้งทุกสองถึงสามชั่วโมงให้ช้างชราได้อิ่มท้อง ไม่เหมือนสมัยที่ฟันยังดีอยู่ ช้างสามารถเคี้ยวอาหารได้ดี จากนั้นเราก็จะสังเกตดูจากมูลช้างในเรื่องการย่อยอาหาร เริ่มต้นบดเคี้ยวจากในปากไปจนถึงระบบลำไส้ว่ามูลช้างนั้นมันมีความละเอียดความหยาบอย่างไร มีการดูดซึมได้ดีไหม
นางอัญชลี กัลมาพิจิตร ได้กล่าวต่อไปว่า ในบ่ายวันนี้จะมีการย้ายพลายบุญเป็งเข้าไปสู่บ้านพักช้างชรา ที่ผ่านมาช้างเชือกนี้ชอบอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ไม่เคยเข้าอยู่ในคอกที่มีหลังคามาก่อน จึงต้องเฝ้าดูพฤติกรรมของช้างซักระยะหนึ่ง แต่ถือว่าเป็นนิมิตรหมายอันดีในการปลดระวางหรือเกษียณอายุการทำงานของพ่อพลายบุญเป็ง ซึ่งทางเราจะต้องมีพื้นที่จัดเตรียมอย่างเพียงพอไว้ให้ช้างที่จะทยอยกันมาอยู่ที่บ้านพักช้างแห่งนี้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆในอนาคตอันใกล้นี้