ไม่มีหมวดหมู่ » ชมรมคนพร้าวรักษ์ป่าไอเดียเก๋ จัดกิจกรรมบวชป่าเนื่องในโอกาสครบรอบ 7 ปีแทนการถวายเทียนพรรษา

ชมรมคนพร้าวรักษ์ป่าไอเดียเก๋ จัดกิจกรรมบวชป่าเนื่องในโอกาสครบรอบ 7 ปีแทนการถวายเทียนพรรษา

12 กรกฎาคม 2019
961   0

Spread the love

ชมรมคนพร้าวรักษ์ป่าไอเดียเก๋ จัดกิจกรรมบวชป่าเนื่องในโอกาสครบรอบ 7 ปีชมรมคนพร้าวรักษ์ป่า แทนการถวายเทียนพรรษา ก่อนเทศกาลเข้าพรรษา เพื่อเป็นการทำบุญและเพิ่มพื้นที่ป่าต้นน้ำให้อุดมสมบูรณ์ ชมรมคนพร้าวรักษ์ป่า พระภิกษุสงฆ์สามเณร ร่วมกับอุทยานแห่งชาติศรีลานนาฝ่ายปกครองอำเภอพร้าวและนักศึกษาจากประเทศสหรัฐอเมริกา ร่วมกันทำบุญก่อนเข้าพรรษา แทนการถวายเทียน

โดยการปลูกป่าในพื้นที่บ้านแม่บอน หมู่ 4 ตำบล โหล่งขอด อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ บนพื้นที่ป่า กว่า 10 ไร่ ที่ทางอุทยานแห่งชาติศรีลานนาได้ทวงคืนผืนป่าจากชาวบ้านเมื่อปี 2555 โดยได้มีการนำต้นไม้ 2,000 ต้น 5 ชนิด ทั้งมะขามป้อม มะค่าโมง เสี้ยวดอกขาว และหว้า มาปลูก

พระครูวรวรรณวิวัฒน์ ดร. เจ้าคณะตำบลโหล่งขอด อำเภอพร้าวและเจ้าอาวาสวัดดอยเวียงชัยมงคล เปิดเผยว่า สำหรับการปลูกป่าครั้งนี้เนื่องจากเป็นการครบรอบ 7 ปีกับคนพร้าวรักษ์ป่า ต้นแบบเครือข่ายชุมชนกับการบูรณาการดูแลป่าต้นน้ำอย่างยั่งยืน ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่สมัยนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชนั้นเป็น ผอ.สบอ.ที่ 16 ซึ่งครั้งนั้นเกิดปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่า เพื่อทำกินและล่าสัตว์ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่พยามทุกวิถีทางในการแก้ปัญหาโดยการใช้กฏหมายและใช้กำลังเจ้าหน้าที่จนเกิดการกระทบกระทั่งกันทั้งสองฝ่ายจนเกิดการปะทะกันขึ้นบ่อยครั้ง จนอดีต ผอ.สบอ. 16 ในขณะนั้นต้องลงพื้นที่มาดูแล และมาพูดคุยกับชาวบ้านและผู้นำในชุมชมร่วมทั้งพระสงฆ์ จนเริ่มมีความเข้าใจและเกิดชมรมคนพร้าวรักษ์ป่า และดำเนินกิจกรรมการมีส่วนร่วมในการดูแลผืนป่า

ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนเช่น โครงการธรรมชาติปลอดภัย เครือเจริญโภคภัณฑ์ มูลนิธิอิออน ประเทศไทยจำกัด ชมรมผู้ประกอบการแพ จำกัด บริษัทสุภิราชการเกษตรพร้าว จำกัด และบริษัทเวิล์ดซีส จำกัด เป็นต้น ทำให้ปัจจุบันสามารถรักษาผืนป่า 8 แสน 7 หมื่นไร่ และสามารถขอคืนผืนป่าและปลูกป่าไปแล้ว 1 หมื่นกว่าไร่ ตลอดจนทำให้ชาวบ้านในอำเภอพร้าว เกิดความตระหนักและรักษ์ป่าโดยการนำศาสตร์พระราชามาใช้ จนกลายเป็นต้นแบบของศรีลานนาโมเดลซึ่งบางจังหวัดที่เกิดปัญหาคนอยู่กับป่าต้องเข้าดูงานและนำไปปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่ของตัวเอง

ด้าน ร.ต.ท.นคร ปัญญาทิพย์ ที่ปรึกษาชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านอำเภอพร้าว เปิดเผยว่า สำหรับพื้นที่อำเภอพร้าว ก่อนหน้านี้ประสบปัญหาภูเขาหัวโล้นมีการบุกรุกพื้นที่ทำกิน บางพื้นที่มีการปลูกฝิ่นและปลูกพืชเชิงเดี่ยวและทำขยายพื้นที่ไปเรื่อยๆ เนื่องพื้นที่ทำกินซ้อนทับกับพื้นที่อุทยานฯ บ่อยครั้งจึงเกิดปัญหาระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่ตั้งแต่เมื่อ 7 ปีที่ผ่านมา นายธัญญา เนติธรรมกุล ขณะนั้นดำรงตำแหน่ง ผอ.สบ. 16 ได้ลงพื้นที่รับทราบปัญหา ได้ให้แนวคิดกับเจ้าหน้าที่ในการดำเนินการว่าทำอย่างไรให้ผู้ที่บุกรกป่า กลับมาเป็นผู้รักษาป่าดูแลป่าโดยที่ไม่กระทบกับที่ทำกินและผืนป่ายังคงสมบูรณ์ ซึ่งเป็นการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำให้ประชาชนในพื้นที่มีแหล่งน้ำในการเกษตร ไม่ต้องมีการบุกรุกพื้นที่ป่าเพิ่ม

หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่อุทยานจึงได้เข้ามาพูดคุยกับชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านขอความร่วมมือสร้างกฏกติการ่วมกันจนทำให้ทุกวันนี้อำเภอพร้าว จึงไม่มีการบุกรุกพื้นที่เพิ่มเนื่องจากทุกหมู่บ้านทุกชุมชน ต้องมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาป่าทำให้ผืนป่าในอุทยานแห่งชาติศรีลานนาที่คลอบคลุม 3 อำเภอทั้งอำเภอแม่แตง อำเภอเชียงดาว และอำเภอพร้าว กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง