สุขภาพ » เชียงใหม่เตรียมรับมือหมอกควันไฟป่า และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ปี 2562 – 2563

เชียงใหม่เตรียมรับมือหมอกควันไฟป่า และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ปี 2562 – 2563

4 ตุลาคม 2019
621   0

Spread the love

จังหวัดเชียงใหม่ เร่งทำแผนเผชิญเหตุรับมือหมอกควันไฟป่า และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ปี 2562 – 2563 หลังนายกฯสั่งการให้เป็นวาระแห่งชาติ ย้ำต้องให้ครอบคลุมทั้งช่วงก่อน-ระหว่าง-หลังเกิดเหตุ เพื่อแก้ไขปัญหาได้ในทุกพื้นที่

วันนี้ (4 ก.ย. 62) เวลา 09.30 น. นายคมสัน สุวรรณอัมพา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานการประชุมพิจารณาแผนเผชิญเหตุการณ์ป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่า ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) จังหวัดเชียงใหม่ ปี 2563 ณ ห้องประชุมศูนย์ประสานงานการขับเคลื่อนและขยายผลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ชั้น 3 อาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันระดมความคิดเห็นในการจัดทำแผนการจัดการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่า ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อเตรียมความพร้อมในการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าให้ครอบคลุมและสามารถใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี มีข้อห่วงใยต่อสถานการณ์ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) และได้มีข้อสั่งการในการประชุมผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล ในการมอบนโยบายการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่า ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เมื่อวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา กองอำนวยการป้องกันและบรรเสาธารณภัยจังหวัด จึงได้ดำเนินการให้สอดคล้องตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี และแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ตามมติคณะรัฐมนตรี โดยได้จัดทำแผนเผชิญเหตุให้ครอบคลุมทั้งช่วงก่อนเกิดเหตุ ระหว่างเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุ โดยระบบบัญชาการเหตุการณ์ตามกลไกพระราชบัญญัติป้อกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 ในการอำนวยการ สั่งการ ควบคุมและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ร่วมกับกฎหมาย และแผนอื่นๆที่เกี่ยวข้อง และให้กำหนดรายละเอียดการแบ่งพื้นที่ ผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน ตลอดจนการจัดชุดปฏิบัติการที่สามารถเข้าไปยังจุดที่มีการเผา หรือก่อให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) เพื่อทำการแก้ไขปัญหาได้อย่างครอบคลุมในทุกพื้นที่

สำหรับ จังหวัดเชียงใหม่ได้จัดทำแผนการดำเนินการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่า ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ปี 2562 – 2563 เป็น 3 ระยะ ได้แก่ 1. ระยะเร่งด่วน/ก่อนเกิดเหตุ (ระหว่างเดือนตุลาคม 2562 – กุมภาพันธ์ 2563) เช่น การประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนได้ทราบถึงระเบียบ ข้อบังคับ และมาตรการทางกฎหมาย เน้นการสร้างความเข้าใจให้เกิดความตระหนักรู้กับประชาชน เยาวชน กลุ่มเปราะบาง ผ่านทุกช่องทางและหลากหลายภาษา รวมทั้งจัดให้เครือข่าย อสม. ของกระทรวงสาธารณสุข ออกประชาสัมพันธ์แก่ประชาชนรู้ถึงโทษของหมอกควันและไฟป่าแบบเคาะประตูบ้าน คำแนะนำด้านสุขภาพอนามัย การปฏิบัติตนในภาวะหมอกควัน และเตรียมความพร้อมในการจัดหาและแจกจ่ายหน้ากากอนามัย ขณะเดียวกัน ยังได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการสั่งการแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พร้อมทั้งจัดตั้งอาสาสมัครหมู่บ้านดับไฟป่าหมู่บ้านทุกหมู่บ้าน ตลอดจน ได้สั่งให้ทุกอำเภอจัดทำทะเบียนผู้มีอาชีพเข้าป่าหาของป่าเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการเข้าป่าอีกด้วย 2. ระยะกลาง/ระหว่างเกิดเหตุ (ระหว่าง 1 กุมภาพันธ์ 2563 – 30 เมษายน 2563) เช่น การจัดชุดลาดตระเวนและควบคุมไฟป่า เพื่อป้องกันการลักลอบการเผาป่าโดยการลาดตระเวนอย่างบูรณาการประชารัฐ พร้อมกับการประยุกต์ใช้ข้อมูลภูมิสารสนเทศภาพถ่ายดาวเทียมในการเฝ้าระวังและรับมือสถานการณ์ โดยจะกำหนดให้มีช่วงเวลาห้ามเผาในที่โล่งทุกชนิดอย่างเด็ดขาด ระยะเวลา 61 วัน ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม ถึง 30 เมษายน 2563 (อาจพิจารณาขยายระยะเวลาเพิ่มเติมตามความเหมาะสม) รวมทั้งจะจัดพื้นที่ปลอดมลพิษ (Safety Zone) ในทุกตำบล เพื่อให้ประชาชนเกิดความปลอดภัยต่อสุขภาพในภาวะหมอกควัน เป็นต้น และ 3. ระยะยาว/หลังเกิดเหตุ (ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป) เช่น จัดทำฝายชะลอน้ำ ทำแนวกันไฟป่าเปียกทุกอำเภอ กิจกรรมบูรณาการแก้ไขและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ได้รับความเสียหายจากไฟป่า รวมทั้งยังต้องส่งเสริมสร้างชุมชนปลอดการเผาในพื้นที่การเกษตรและแนวทางเกษตรยั่งยืนเพื่อเป็นต้นแบบในการแก้ไขปัญหา ลดการเผา เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำเกษตรเชิงเดี่ยว และส่งเสริมอาชีพใหม่ที่สร้างรายได้อย่างยั่งยืน เป็นต้น