สุขภาพ » พระเทพวุฒาจารย์หรือหลวงปู่เจ วัย94 ปีเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวง วรวิหาร เชียงใหม่ละสังขาร

พระเทพวุฒาจารย์หรือหลวงปู่เจ วัย94 ปีเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวง วรวิหาร เชียงใหม่ละสังขาร

18 มีนาคม 2020
1039   0

Spread the love

เมื่อเวลา 00.01 น.วันที่ 18 มี.ค.นี้พระเทพวุฒาจารย์ หรือหลวงปู่เจ เจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร อายุ 94 ปี 2 เดือน 18 วัน พรรษา 74 ได้ละสังขารอย่างสงบ ณ กุฏิมหาเจติยาสามัคคี ภายในวัดเจดีย์หลวง วรวิหาร ต.พระสิงห์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ต่อหน้าพระเถรานุเถระ มีพระราชวิสุทธิญาณ เจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน (ธ) พระครูโสภณกวีวัฒน์ ผช.เจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวงฯ พร้อมคณะกรรมสงฆ์ พระภิกษุสามเณรในวัดจำนวนมากที่ได้ร่วมแสดงความอาลัยในวาระสุดท้าย หลังจากได้เคลื่อนย้ายหลวงปู่ออกจากโรงพยาบาลสงฆ์ภายในโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่กลับสู่วัดตามความประสงค์ของท่าน และเมื่อมาถึงก็ได้ละสังขารลงด้วยอาการสงบภายในกุฏิมหาเจติยาสามัคคี


กำหนดการส่งน้ำสรีระสังขารพระเดชพระคุณในวันที่ 19 มีนาคม เวลา 09.00 น. จะทำพิธีอาราธนาสรีระสังขารหลวงปู่ไปยังพระวิหารหลวง จากนั้นในเวลา 16.00 น. ประกอบพิธีถวายน้ำหลวงสรงศพ หลังจากนั้นจะได้มีการแสดงพระธรรมเทศนา และสวดพระอภิธรรมทุกวัน จนถึงวันพุธที่ 27 มีนาคม จึงจะได้มีการประกอบพิธีทำบุญสัตตมวารครบ 7 วัน


พระครูโสภณกวีวัฒน์ เปิดเผยว่า หลวงปู่เจหรือพระเทพวุฒาจารย์ เป็นผู้มีบุญ ตั้งแต่มาอยู่วัดเจดีย์หลวงฯนานร่วม 80 ปีไม่เคยอาพาธเจ็บป่วยอะไร ตลอดเวลาไม่เคยไปโรงพยาบาล เพิ่งมาปี 2559 วันที่ 18 สิงหาคมที่อาพาธหนักครั้งแรกในชีวิตของท่าน นับแต่นั้นมาก็เข้าออกโรงพยาบาลประจำ รวมทั้งเกิดอุบัติเหตุล้มลงก็กลับเข้าโรงพยาบาลอีกจนถึงวันละสังขาร โดยขณะยังรักษาตัวอยู่ได้บริจาคเงินให้โรงพยาบาลหลายครั้ง รวมแล้วร่วม 2 ล้านบาท จากคุณความดีของท่านระหว่างเป็นครูพระ และปกครองวัดได้มอบทุนการศึกษา และพัฒนาวัดไว้เป็นอันมาก เมื่อปี 2557 ได้รับรางวัลคนดีศรีแผ่นดินจากมหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ “หลวงปู่ท่านเป็นคนใจดี ไม่เก็บกด มีอารมณ์สม่ำเสมอ ไม่วู่วามโกรธแค้น ปล่อยวาง ดำรงตนอยู่ด้วยความเมตตา ให้อภัยธรรมเป็นจริตนิสัย สมกับฉายา อภโย คือผู้ให้อภัยไม่จองเวร คุณธรรมนี้ทำให้ท่านมีอายุยืน”

สำหรับประวัติ พระเดชพระคุณพระราชเจติยาจารย์ (ชูเกียรติ อภโย เทวินทะ) เป็นบุตรนายบุญมี นางคำปุก เทวินทะ เกิดที่บ้านอุมลอง หมู่ 1 ต.ล้อมแรด อ.เถิน จ.ลำปาง เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2468 เป็นบุตรคนที่ 3 ของครอบครัว (มีพี่น้องชายหญิง 6 คน)บิดามารดาประกอบอาชีพค้าขาย เรียนหนังสือที่โรงเรียนประจำหมู่บ้านจบประถม 4 เมื่อปี พ.ศ.2483 ทำงานช่วยบิดามารดา ปี พ.ศ.2487 ได้ติดตามพี่ชายชื่อ สามเณรเดช เทวินทะ วัดสีตลาราม จ.ตาก ติดตามพระอาจารย์กั๊วะ (จำฉายาไม่ได้) พระกัมมัฏฐานเดินธุดงค์ นำทั้งสองคนมาฝากไว้ที่วัดเจดีย์หลวงเพื่อศึกษา จึงบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดเจดีย์หลวง เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2487 โดยคุณนายชั้น ระวังเวียงพิงค์ เป็นเจ้าภาพ ซึ่งวันนั้น สมเด็จพระมหาวีรวงศ์(อ้วน ติสฺโส)สังฆนายกเจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส กรุงเทพฯ เดินทางขึ้นมาปฏิบัติศาสนกิจในภาคเหนือโดยนำหน่อต้นโพธิ์จากประเทศอินเดียมาปลูกที่วัดพระธาตุดอยสุเทพ ได้แวะมาเยี่ยมวัดเจดีย์หลวง จึงรับเป็นพระอุปัชฌาย์ให้ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2488 เข้าอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร พระพุทธิโศภน (แหวว ธมฺมทินฺโน) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระมหาขันติ์ ขฺนติโก (พระธรรมดิลก อดีตเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวง มรณภาพ 2534) เป็นพระกรรมวาจาจารย์พระหมาหมื่นวุฑฺฒิญาโณ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้ฉายาว่า “อภโย”


สมณศักดิ์/ตำแหน่งหน้าที่ พ.ศ. 2515 เป็นพระครูวินัยธร ฐานานุกรมของพระเทพสารเวที พ.ศ. 2518 เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ พระครูมหาเจติยาภิบาล พระครูผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นโท พ.ศ. 2524 เป็นพระครูผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นเอก (ในราชทินนามเดิม)พ.ศ. 2530 เป็นพระครูผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นพิเศษ (ในราชทินนามเดิม) พ.ศ. 2539 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระมหาเจติยาภิบาล พ.ศ. 2547 เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชเจติยาจารย์ พ.ศ. 2523 เป็นเจ้าคณะตำบลช้างเผือก(ธ) อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพระอุปัชฌาย์ วันที่ 14 กรกฎาคม 2551 ได้รับแต่งตั้งเป็นรักษาการเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร และเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 28 กรกฎาคม 2562 พระบาทสมเด็จพระปรเมทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณฯ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ ให้ เป็นพระเทพวุฒาจารย์ สีลาจารวิมล โสภณศาสนกิจ ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี พระราชาคณะชั้นเทพ.