บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ผนึก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ผสานกำลังขับเคลื่อนประเทศไทย ติดปีกธุรกิจไทยสู่ความยั่งยืน ร่วมผลักดันและเสริมแกร่งศักยภาพผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมทั้งระบบ พร้อมมาตรการการเงินการคลัง ร่วมลงนามความร่วมมือการสนับสนุนผู้ประกอบการให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการดำเนินธุรกิจ โดยได้รับเกียรติจาก นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้เกียรติขึ้นกล่าวปาฐกถาพิเศษ “การกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศไทยด้วยมาตรการทางการเงินและการคลัง” พร้อมร่วมเป็นสักขีพยานการลงนาม
เมื่อวันที่ 2 กรกฏาคม. นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้เกียรติร่วมงาน FTI EXPO 2022 และร่วมเป็นสักขีพยานความร่วมมือ “การสนับสนุนผู้ประกอบการให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการดำเนินธุรกิจ” ระหว่าง บสย. และ ส.อ.ท. โดยขึ้นกล่าวปาฐกถาพิเศษ “การกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศไทยด้วยมาตรการการเงินและการคลัง” โดยส่วนหนึ่งของการบรรยายได้กล่าวถึง ในช่วงที่ผ่านมา ได้ออกมาตรการการช่วยเหลือประชาชนจากสถานการณ์ขัดแย้ง ยูเครน-รัสเซีย แล้วรวม 8 มาตรการ คือ
1.มาตรการตรึงราคาขายปลีกก๊าซ NGV 2.มาตรการบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมันดีเซล 3.มาตรการบริหารราคาน้ำมันดีเซล 4.มาตรการขอความร่วมมือกลุ่มโรงกลั่นน้ำมัน 5. มาตรการช่วยเหลือด้านราคาก๊าซ LPG 6.มาตรการประหยัดพลังงานทั้งภาครัฐและเอกชน 7.มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดอบรมภายในประเทศ 8.มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดนิทรรศการและงานแสดงสินค้าในประเทศไทย โดยหลังจากการกล่าวปาฐกถา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ให้เกียรติร่วมเป็นสักขีพยาน ในพิธีลงนามความร่วมมือ “การสนับสนุนผู้ประกอบการให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการดำเนินธุรกิจ” ระหว่าง นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ขานรับนโยบายเปิดประเทศร่วมขับเคลื่อนประเทศไทย สนับสนุนผู้ประกอบการทั้งระบบ ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่
นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ สอดรับกับนโยบายการเปิดประเทศ และการส่งเสริมการค้าการลงทุน โดยเฉพาะการเข้าถึงแหล่งทุน ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ภายใต้สังกัดกระทรวงการคลัง ภายใต้วิสัยทัศน์ “เป็นศูนย์กลาง การเชื่อมโยงเงินทุน และโอกาสทางธุรกิจให้ผู้ประกอบการ SMEs” ใน 2 บทบาท
บทบาทแรก การเป็น Credit Enhancer ออกหนังสือค้ำประกันสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการ SMEs ใช้แทนหลักประกันในการยื่นกู้กับสถาบันการเงิน เป็นการลดต้นทุนด้าน Credit หรือ Credit Cost
บทบาทที่สอง คือ การเป็นศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน F.A. Center และหมอหนี้ เพื่อให้คำปรึกษาทางการเงิน Financial Literacy ไม่ว่าจะเป็นด้านการขอสินเชื่อ ด้านการพัฒนาธุรกิจ ด้านการปรับโครงสร้างหนี้ และการแก้ไขหนี้ ตามนโยบายของกระทรวงการคลัง ซึ่งที่ผ่านมา F.A. Center ได้ให้คำปรึกษาและการช่วยเหลือ SMEs ไปแล้วมากกว่า 8,000 ราย นับเป็นความต้องการวงเงินสินเชื่อกว่า 10,000 ล้านบาท
การลงนามความร่วมมือ “การสนับสนุนผู้ประกอบการ ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อการดำเนินธุรกิจ” ระหว่าง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ บสย. ในวันนี้ จะเป็นอีกก้าวหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตอบรับการเปิดประเทศ เพื่อผลักดันการเสริมสร้างให้ผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรม โดยเฉพาะสมาชิกของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เล็งเห็นถึงความสำคัญในการเป็นผู้ผลักดันให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมสามารถรักษาเสถียรภาพของธุรกิจและดำเนินธุรกิจต่อไปได้ จึงเป็นที่มาของโครงการความร่วมมือกับ บสย. โดย บสย. จะสนับสนุนด้านความรู้ทางการเงินและธุรกิจ ดำเนินกิจกรรมให้ความช่วยเหลือแก่สมาชิก ส.อ.ท. ให้เข้าถึงแห่งทุนเพื่อการดำเนินธุรกิจ รวมถึงการพัฒนาศักยภาพยกระดับศักยภาพด้านต่างๆ ได้แก่
การให้คำปรึกษาด้านการเงิน ผ่านศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs หรือ บสย. F.A. Center ทั้งด้านการเตรียมความพร้อมก่อนขอสินเชื่อ การบริหารจัดการเงินทุน การปรับโครงสร้างหนี้ และการพัฒนาธุรกิจ ซึ่งในระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา มีสมาชิกของ ส.อ.ท. ให้ความสนใจรับคำปรึกษาด้านการเงินภายใต้ความร่วมมือดังกล่าวกว่า 200 บริษัท การอบรมให้ความรู้ “รู้ข้อดีบัญชีเดียว พร้อมตัวช่วย” และ “การวิเคราะห์งบการเงินสำหรับ CEO “ ซึ่งหลังจากนี้จะให้ความร่วมมือในกิจกรรมอื่นๆ ทั้งการช่วยเหลือด้านการค้ำประกันสินเชื่อแก่สมาชิก ส.อ.ท. การพัฒนาธุรกิจด้านต่างๆ อาทิ ด้านการตลาดและเทคโนโลยี การเพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพในกระบวนการผลิต การส่งเสริมและผลักดันสมาชิกสู่ BCG ECONOMY MODEL