เศรษฐกิจ » สสส.-มสส.พร้อมสื่อมวลชน สภาลมหายใจ และ อบจ.เชียงใหม่เปิดเวทีทุกฝ่ายถกปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5

สสส.-มสส.พร้อมสื่อมวลชน สภาลมหายใจ และ อบจ.เชียงใหม่เปิดเวทีทุกฝ่ายถกปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5

29 พฤษภาคม 2024
193   0

Spread the love

สสส.-มสส.จับมือสื่อมวลชนเชียงใหม่ เปิดเวทีทุกฝ่ายถกปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ทั้งอบจ.เชียงใหม่ คณะแพทย์ศาสตร์มช. สภาลมหายใจเชียงใหม่ ชี้กระทบทั้งเศรษฐกิจและสุขภาพ นักท่องเที่ยวลดลงทุกปีเสียรายได้ปีละหมื่นล้านบาท งานวิจัยระบุสัมพันธ์กับมะเร็งปอด ทุกฝ่ายเรียกร้องเลิกทำงานเป็นแท่ง กระจายอำนาจชุมชน มีการวิจัยสาเหตุที่ชัดเจนอย่าโทษชาวบ้านอย่างเดียว ภาครัฐอย่าปิดบังความจริง พร้อมเรียกร้องนายกรัฐมนตรีใช้งบกลางคัดกรองมะเร็งปอดและเพิ่มสิทธิประโยชน์ในระบบประกันสุขภาพของประชาชน


วันที่ 29 พฤษภาคา 2567 ที่ห้องท่าแพ โรงแรมอโมร่า ท่าแพ จ.เชียงใหม่ มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ(มสส.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)ร่วมกับสื่อมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ จัดประชุมโฟกัส กรุ๊ป เรื่อง “PM 2.5 … ปัญหาซ้ำซากภาคเหนือไร้ทางแก้จริงหรือ โดยมี นายมนตรี ตระกูลสมบัติ หน.ศูนย์ข่าวภาคเหนือ โมเดิร์นไนน์ ทีวี บมจ.อสมท. เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยมี ผศ.พญ.พุตตาน วงตรีรัตนตรัย รองคณบดีด้านสื่อสารองค์กร คณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายก อบจ.เชียงใหม่,นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ผู้ก่อตั้งสภาลมหายใจเชียงใหม่และนางอุบลนัดดา สุภาวรรณ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทยนิวส์ จ.เชียงใหม่ ร่วมถกปัญหาฝุ่นพิษ แต่กลับไม่มีตัวแทนของจังหวัดเชียงใหม่มาร่วมในครั้งนี้


นายวิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการสื่อสารมวลชน กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)กล่าวเปิดการประชุมว่านับว่าเป็นโอกาสดีที่สื่อมวลชนจ.เชียงใหม่และมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ(มสส.)ซึ่งได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานจากสสส.เสริมพลังสื่อมวลชนร่วมขับเคลื่อนงานด้านสุขภาวะร่วมกันจัดเวทีระดมความคิดเห็นเพื่อแก้ไขปัญหา ลดผลกระทบต่อสุขภาพและผลกระทบด้านเศรษฐกิจจากปัญหามลพิษทางออากาศจาก PM 2.5 ในจังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือ งานวิจัยลงตีพิมพ์ในวารสารราชภัฏเชียงใหม่ที่ศึกษาผลกระทบของPM 2.5 ต่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 20 สัญชาติที่เดินทางมาท่องเที่ยวมากที่สุดโดยใช้จ.เชียงใหม่และกทม.เป็นตัวแทนนักท่องเที่ยวที่เกิดปัญหามลพิษทางอากาศช่วงปี 2557ถึง ปี 2561 พบว่าปัญหาPM 2.5 ทำให้นักท่องเที่ยวลดลงโดยเฉพาะในเดือนเมษายนและพฤษภาคม หากดัชนีค่าฝุ่น PM 2.5 เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 จากค่าเฉลี่ยรายเดือนจะทำให้นักท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่ลดลง 106,060 คน สอดคล้องกับตัวเลข ของนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวเชียงใหม่ลดลงเช่น ปี2561 มีนักท่องเที่ยว จำนวน 10.84 ล้านคน ปี2562 มีนักท่องเที่ยวจำนวน 11 ล้านคน แต่ในปี 2565 นักท่องเที่ยวลดลงเหลือ 5.9 ล้านคนและปี 2566ที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวจำนวน 7.7 ล้านคน


ส่วนผลกระทบด้านสุขภาพนั้นองค์การอนามัยโลกระบุชัดเจนว่าอัตราการตายประชากรโลกมีความสัมพันธ์กับความเป็นพิษทางอากาศ โดยทุกๆ 10 ไมโครกรัมของฝุ่น PM 2.5 มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอดเพิ่มขึ้น 8 ถึง 14 เปอร์เซ็นต์ องค์การอนามัยโลกกำหนดให้ PM 2.5 จัดอยู่ในกลุ่มที่ 1 ของสารก่อมะเร็งซึ่งเป็นสาเหตุ 1 ใน 8 ของประชากรโลกที่เสียชีวิตก่อนวัยอันควร สอดคล้องกับการวิจัยผลกระทบมลพิษต่อสุขภาพในพื้นที่อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่พบว่าการตายรายวันและความเจ็บป่วยของประชาชนสัมพันธ์กับปัญหาหมอกควันในช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายนของปี 2559 และปี 2560 ข้อมูลจากหลายองค์กรระบุตรงกันว่าภาคเหนือมีอัตราการป่วยเป็นมะเร็งปอดมากที่สุดเมื่อเทียบกับภาคอื่นทั้งๆที่อัตราการสูบบุหรี่ลดลง การประชุมในวันนี้นอกจากได้ข้อมูลจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ สภาลมหายใจเชียงใหม่และผู้แทนสื่อมวลชนเชียงใหม่แล้ว จะได้แลกเปลี่ยนความเห็นและเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อลดผลกระทบและแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนต่อไป


ผศ.พญ.พุดตาน วงศ์ตรีรัตนชัย รองคณบดีด้านสื่อสารองค์กร คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัย เชียงใหม่ กล่าวว่าปัญหา PM 2.5 ที่เกิดขึ้นมีผลกระทบต่ออวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ปอด หัวใจ สมอง ตา ส่งผลต่อทารกในครรภ์ การได้รับฝุ่นพิษ PM 2.5 ทุก ๆ 22 ไมโครกรัม เฉลี่ย 20 ชั่วโมง จะเท่ากับการสูบบุหรี่ 1 มวน ซึ่งถือว่ารุนแรงมาก จากตัวเลขที่มีการรวบรวมค่าเฉลี่ย PM 2.5 รายวัน ในตัวเมืองเชียงใหม่ ตลอดเดือนมีนาคม 2562 โดยเฉพาะในวันเสาร์ที่ 23 มีนาคม 2562 คนเชียงใหม่ทุกเพศทุกวัยสูบบุหรี่ไปคนละ 18 มวน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการสื่อสารกับประชาชนเพื่อให้รับรู้แนวทางปฏิบัติตัวตามระดับของฝุ่น PM 2.5 ทั้งกลุ่มประชาชนทั่วไป และกลุ่มเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผลที่เกิดขึ้นต่อสุขภาพ ไม่ได้เกิดโรคมะเร็งปอดอย่างเดียว แต่ยังมีผลต่อสมองของเด็กและผู้ใหญ่ด้วย ก่อให้เกิดอาการซึมเศร้า สมาธิสั้น พัฒนาการช้าลง และ IQ ต่ำลงในเด็ก ส่วนในผู้ใหญ่มีผลต่อโรคสมองเสื่อมทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์เพิ่มมากขึ้น หลอดเลือดสมองตีบและแตก มีผลงานการวิจัยของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ระบุชัดเจนว่า ฝุ่น PM 2.5 ทำให้เลือดกำเดาไหล เพราะมีผลต่อช่องจมูก ส่งผลให้ตาแดงอักเสบ ส่วนอัตราการตายจากมะเร็งปอด แยกรายภาค ตั้งแต่ปี 2553 – 2562 ภาคเหนือมีอัตราการตายจากมะเร็งปอดมากกว่าภาคอื่น ซึ่งเป็นผลมาจาก ฝุ่น PM 2.5 ด้วยเช่นกัน


นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่าเชียงใหม่ติดอันดับเมืองท่องเที่ยวที่ดีที่สุดในโลก แต่เมื่อเกิดปัญหา PM 2.5 ทำให้เกิดผลกระทบทั้งด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อมและเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจปีละ 10,000 ล้านบาท นักท่องเที่ยวยกเลิกเที่ยวบิน 50-60 เปอร์เซ็นต์ สาเหตุของปัญหาหมอกควันพิษ PM 2.5 มาจากหลายสาเหตุทั้งการเผาในที่โล่ง ไฟป่า การคมนาคมขนส่ง โรงงานอุตสาหกรรม และฝุ่นละอองจากการก่อสร้าง ประกอบกับที่ตั้งของเมืองเชียงใหม่มีสภาพเป็นแอ่งกะทะทำให้การแก้ปัญหายากมากขึ้น นอกจากนั้นยังมีปัญหาเรื่องการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาที่ไม่เป็นเอกภาพเพราะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวนมากซึ่งในระยะหลังเริ่มดีขึ้นเพราะมีการจัดตั้งศูนย์บัญชาการป้องกันแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ทุกระดับทั้งระดับจังหวัด อำเภอและตำบล
สำหรับบทบาทของอบจ.เชียงใหม่ในการแก้ไขปัญหานั้น นายพิชัย กล่าวว่า มีหลายมิติคือ ทั้งการให้ใช้สถานที่จัดตั้งเป็นศูนย์บัญชาการระดับจังหวัด อบจ.เชียงใหม่ เป็นที่แรกของประเทศไทยที่ให้งบประมาณสนับสนุนแก่มูลนิธิป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นควัน จ.เชียงใหม่ ต่อเนื่องทุกปี เช่นปี 2564 จำนวน 13.67 ล้านบาท ปี 2565 จำนวน 13.67 ล้านบาท ปี 2566 จำนวน 10.87 ล้านบาท และปี 2567 จำนวน 10.99 ล้านบาท นอกจากนั้นยังสนับสนุนอุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ เช่น เครื่องมือทำแนวกันไฟ อากาศยานไร้คนขับ เครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศพร้อมจอแสดงผลทั้งจังหวัด 250 เครื่อง มอบเรือตรวจการณ์ในพื้นที่ป่ารอบเขื่อนแม่กวงอุดมธารา การแจกหน้ากาก N 95 ให้กับประชาชน มีการล้างถนน ติดตั้งเครื่องพ่นละอองฝอยเพิ่มความชุ่มชื้นในอากาศ พร้อมกันนั้นยังมีการจัดทำระบบข้อมูลและการสื่อสารเผยแพร่เช่นโครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลและเว็บไซต์รายงานสถานการณ์ฝุ่นควัน PM 2.5 โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จัดเก็บบันทึกข้อมูลชุมชนและศูนย์วิชาการของจังหวัดเพื่อดำเนินการตัดสินใจในเวลาที่เหมาะสมในการกำจัดเชื้อเพลิงในแต่ละวัน มีการอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรเตรียมความพร้อมสำหรับสถานการณ์ PM 2.5 รวมทั้งจัดทำ Application และอบรมการใช้ เพื่อประโยชน์ในการเผยแพร่ข้อมูลและให้ประชาชนแจ้งเบาะแสต่างๆด้วย

นายชัชวาล ทองดีเลิศ ประธานสภาลมหายใจ เชียงใหม่ กล่าวว่าการแก้ปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ที่มีความซับซ้อนเชื่อมโยงกันทั้งด้านคมนาคม พลังงาน อุตสาหกรรม เกษตร ป่าไม้ สิ่งแวดล้อมและเชื่อมโยงไปถึงต่างประเทศ ปัญหาโลกร้อนและผลประโยชน์ทับซ้อน กุญแจสำคัญคือการแก้ปัญหาแบบบูรณาการโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยใช้มิติทางสังคมควบคู่กฎหมาย จากข้อมูลสถานการณ์ปี 2567 จุดความร้อนจากไฟไหม้ ของเชียงใหม่ดีขึ้นแต่ยังไม่เป็นตามเป้าที่จะให้ลดลง 50% แต่สิ่งที่ยังไม่น่าพอใจก็คือ จำนวนวันของคุณภาพอากาศที่เกินค่ามาตรฐานถึง 87 วันก็ถือว่ายังมากอยู่ ดังนั้นการสรุปบทเรียนต้องวิเคราะห์ผลที่เกิดขึ้นอย่างจริงจังลงลึกไปถึงเหตุปัจจัยและเงื่อนไขต่าง ๆ ที่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ อุปสรรคสำคัญในการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ของเชียงใหม่และภาคเหนือว่าเพราะเรามีระบบราชการรวมศูนย์อยู่ที่ส่วนกลางทำงานเป็นแท่งในจังหวัดมีหน่วยงานส่วนกลางอยู่ 157 หน่วย ผู้ว่าราชการจังหวัดดูแลอีก 23 หน่วย และมีองค์กรปกครองท้องถิ่น 211 หน่วย ทำให้การบูรณาการแผนและงบประมาณมีข้อจำกัด ต่อมาคือการบริหารสถานการณ์ภายใต้ พ.ร.บ.ป้องกันบรรเทาสาธารณะภัยยังทำงานเชิงรับถ้ามีอุบัติภัยจึงจะสามารถใช้งบประมาณใช้คนใช้เครื่องจักรได้ และเรายังมีความล่าช้าของการวางแผนแม้จังหวัดเชียงใหม่จะมีการวางแผนตั้งแต่ต้นปี2566แต่กว่าแผนจะเสร็จประมาณเดือนพฤศจิกายนทำให้งบประมาณล่าช้าจนต้องใช้เงินจากส่วนกลาง ดังนั้นแผนทุกอย่างควรจบในเดือนตุลาคม และเดือนธันวาคมต้องมีงบประมาณชัดเจนแล้ว
ประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่กล่าวอีกว่ายังมีปัญหาพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าประกาศทับซ้อนพื้นที่ชุมชนที่อยู่ในเขตป่าที่มีความขัดแย้งมาอย่างยาวนานจึงควรจะใช้รูปแบบเดียวกันกับการแก้ปัญหาเขตป่าสงวนที่มี พ.ร.บ.ป่าชุมชนรองรับทำให้ชุมชนมีส่วนร่วมแก้ปัญหาได้ดีขึ้น ส่วนการกระจายอำนาจแบบมีส่วนร่วมแม้จะทำได้ดีแต่ยังไม่ลงลึกถึงชุมชนโดยเฉพาะประชาชนที่ทำมาหากินอยู่ในป่ายังไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างจริงจัง นอกจากนั้นควรมีการวิจัยที่ชัดเจนว่าเหตุปัจจัยของการเผาคืออะไรไม่ควรแก้ปัญหาตามความรู้สึกหรือมีอคติว่าชาวบ้านเผาเพื่อหาเห็ด หาหน่อไม้ ล่าสัตว์ และควรมีกฎหมายหรือมาตรการจัดการกับบริษัทที่ไปลงทุนปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศเพื่อนบ้านเพื่อ ป้องกันการเผาในที่โล่ง รัฐบาลต้องมีเจตจำนงทางการเมืองมีแผนที่ชัดเจนและสุดท้ายขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีจัดสรรงบฯ กลางเพื่อคัดกรองมะเร็งปอดโดยทันที โดยเพิ่มสิทธิประโยชน์การคัดกรองมะเร็งปอดในระบบหลักประกันสุขภาพทั้งบัตรทอง ประกันสังคม และข้าราชการโดยเร็ว


นางอุบลนัดดา สุภาวรรณ บรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ไทยนิวส์ กล่าวถึงบทบาทของสื่อมวลชนในเรื่อง PM 2.5 ว่าสื่อจะรวบรวมข้อมูลนโยบายจากส่วนกลางและหน่วยงานในพื้นที่มานำเสนอ เพื่อเพิ่มการตระหนักรู้ ช่วยกันเป็นหูเป็นตา มีการนำเสนอข้อมูลเชิงลึก เช่น ผลการวิจัย การลงพื้นที่ เก็บข้อมูลจากหน่วยงานและกลุ่มนักวิจัยหรือนักเคลื่อนไหวต่างๆ เพิ่มความถี่ในการนำเสนอข่าว ตอกย้ำ ว่าปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข โดยพยายามขยายประเด็นการนำเสนอที่หลากหลายมิติ เช่นการดำรงชีวิต การแก้ปัญหา การปรับตัวและการป้องกันตนเองของคนทำงานในด้านการท่องเที่ยว การเกษตร ภาคประชาชน นักวิจัย เจ้าหน้าที่ของรัฐ บุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งการรวบรวมข้อมูลและวิธีการแก้ปัญหาของต่างประเทศ หรือการนำนวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้เพื่อแก้ปัญหาในระยะยาว สิ่งที่สื่อมวลชนอยากเรียกร้อง คือ ขอให้จังหวัดให้ข้อมูลที่เป็นความจริงกับสื่อมวลชน อย่างสร้างภาพและกลัวว่าข่าว PM 2.5 จะกระทบต่อการท่องเที่ยว แลกกับผลกระทบทางสุขภพาของคนเชียงใหม่ คุ้มกันหรือไม่ เราไม่อยากให้ผู้นำมาสร้างภาพ เช่น การปั่นจักรยาน การนั่งริมแม่น้ำปิง หรือการแจกหน้ากากอนามัย แต่อยากให้มีการวางแผนและแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังและยั่งยืน สื่อมวลชนพร้อมให้ความร่วมมืออยู่แล้ว แต่บางครั้งข้อมูลมามาถึงสื่อ ในวอร์รูม สื่อส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เข้าไปร่วมประชุม


ทางด้านสื่อมวลชนที่เข้าร่วมประชุมได้แสดงความเห็น นายสราวุฒิ แซ่เตี๋ยว รองประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ และประธานที่ปรึกษาสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ปัญหานี้ไม่ต่ำกว่า 20 ปีแล้ว แต่เชื่อว่าทุกอย่างแก้ได้อยู่ที่ตั้งใจจะแก้มากน้อยแค่ไหน ขอเสนอให้สถาบันการศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่ได้ทำการวิจัยเชิงลึกว่าต้นเหตุของการเผาใครเป็นคนเผา เผาเพราะอะไร รวมถึงแสดงตัวเลขให้เห็นว่า รายได้จากปลูกข้าวโพดในแต่ละปีกับผลเสียที่เกิดขึ้นจากการเผาเป็นอย่างไร
นายศักดา แซ่เอียว การ์ตูนนิสต์ “เซีย ไทยรัฐ” กล่าวว่า เพิ่งมาอยู่เชียงใหม่เห็นแล้วตกใจว่าปัญหามันรุนแรงมองไม่เห็นท้องฟ้า มีแต่สีเทาเต็มไปหมด เสียดายทำไมเชียงใหม่กลายเป็นอย่างนี้ไปได้ ตนได้รับผลกระทบเป็นไข้นอนซมไป 7 วัน เรื่องนี้จะต้องใช้วิทยาศาสตร์เข้ามาช่วย ลำพังนักการเมืองและชาวบ้านยังไม่พอ ต้องคุยกับเพื่อนบ้านและเป็นนโยบายการเมืองระหว่างประเทศ เกิดปัญหาตรงไหนก็ต้องแก้ที่ต้นตอ ส่วนสื่อมวลชนก็ต้องช่วยให้ความรู้ ความจริง และเผยแพร่สู่ประชาชน
นางณัชชา อุตตะมัง บรรณาธิการ สำนักข่าวนอร์ทพับลิคนิวส์ กล่าวว่า ตนเองลงพื้นที่ติดตามปัญหามาตั้งแต่ฝุ่น PM 10 จนถึง PM 2.5 ได้เห็ฯปัญหาว่ารุนแรงแค่ไหน แต่จังหวัดและรัฐบาลปิดบังข้อมูลทำให้ประชาชนเห็นว่าสถานการณ์ไม่เลวร้าย ทั้ง ๆ ที่ปัญหามีความรุนแรงจึงอยากให้บอกความจริงกับประชาชน และเมื่อมีแผนแล้วก็มักจะไม่ทำตามแผน ที่ผ่านมามีการมอบรางวัลให้กับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ แต่ข้อเท็จจริงพื้นที่นั้นมีไฟไหม้เยอะ ขอตั้งคำถามว่าให้รางวัลไปได้อย่างไร นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องการเข้าถึงอุปกรณ์และการป้องกันของประชาชนก็ยังไม่ดีพอ มีการทำห้องลดฝุ่น 2,000 กว่าห้อง แต่ทำได้จริง 1,800 ห้อง ทั้งที่ประชากรในนจังหวัดเชียงใหม่ มีอยู่ 1,700,000 คน ส่วนการช่วยเหลือผู้ป่วยติดเตียงอีก 3,000 กว่าคนเข้าไม่ถึง เช่นเดียวกับหน้ากากป้องกันฝุ่น เมื่อถึงเวลาก็ไม่มีหน้ากากแจก ขอเพิ่มก็ไม่ได้


นางกัญญานันท์ ตาทิพย์ ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) ภาคเหนือตอนบน กล่าวว่า ในฐานะเป็นภาคีที่ทำงานเรื่องการปกป้องสุขภาพด้านแอลกอฮอล์ เห็นด้วยที่ต้องมีแผนสนับสนุนอย่างชัดเจน ไม่ใช่เฉพาะช่วงที่มีปัญหา แต่ควรจะเป็นแผนทั้งปี อย่างน้อยก็มีหมู่บ้านที่ปลอดการเผาในจังหวัดเชียงใหม่ 31 หมู่บ้านในนั้นควรทำให้ชาวบ้านตระหนักว่าถ้าไม่เผาแล้วจะทำอย่างไร และถอดบทเรียนที่เกิดขึ้นส่งให้รัฐบาล เพื่อเป็นแนวทางแก้ไขปัญหา ต่อไป สคล. ก็จะเพิ่มประเด็นในการรณรงค์ในเรื่องนี้ด้วย


สุดท้าย นายอภิวัชร์ เกตุทัต ประธานมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.) ได้กล่าวขอบคุณวิทยากรและสื่อมวลชน พร้อมสรุปว่าข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากเวทีประชุมจะนำไปสู่การผลักดันมาตรการต่างๆเช่น การวางแผนสนับสนุนการทำงานของสภาลมหายใจเชียงใหม่และสื่อมวลชนเพื่อเผยแพร่ความรู้ใหม่ๆและข้อเท็จจริงที่ถูกต้องให้ประชาชนได้รับรู้เข้าใจปัญหาและปรับตัวพิษpm2.5///