สังคม » แม่แจ่มโมเดลในการแก้ไขปัญหาไฟป่าในระดับอำเภอใน 9 พื้นที่เสี่ยงของภาคเหนือ

แม่แจ่มโมเดลในการแก้ไขปัญหาไฟป่าในระดับอำเภอใน 9 พื้นที่เสี่ยงของภาคเหนือ

10 มกราคม 2019
890   0

Spread the love

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำร่องใช้แม่แจ่มโมเดลในการแก้ไขปัญหาไฟป่าในระดับอำเภอใน 9 พื้นที่เสี่ยงของภาคเหนือ ล่าสุดใช้เทคโนโลยีใหม่ชิงเผาโดยใช้อากาศยานไร้คนขับเป็นครั้งแรก พร้อมปล่อยกำลังพลในการลาดตระเวนป้องกันไฟป่าทั่วประเทศ

เมื่อ เวลา 13.30 น. วันที่ 10 ม.ค.นี้ที่ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 31 อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดงานการรณรงค์การป้องกันและควบคุมมลพิษหมอกควันไฟป่า ในโครงการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ไฟป่า โดยบูรณาการความร่วมมือของทุกภาคส่วน พร้อมเปิดตัวการสาธิตใช้อากาศยานไร้คนขับ หรือ โดรน ในการชิงเผาลดปริมาณเชื้อเพลิง พร้อมทั้งมอบอุปกรณ์ดับไฟป่าให้ผู้นำชุมชน และปล่อยขบวนลาดตระเวนและขบวนรณรงค์ไฟป่า ที่เกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและเครือข่ายภาคประชาชน เพื่อออกไปสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนทุกชุมชนพื้นที่เสี่ยงในอำเภอแม่แจ่ม เนื่องจากสถานการณ์ปีนี้น่าเป็นห่วง เพราะฤดูแล้งยาวนานจึงต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ

ด้าน นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ เปิดเผยถึงสถานการณ์ไฟป่าปี 2561 ว่า ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ พบจุดความร้อน จำนวน 3,753 จุด โดยมีการดับไฟป่า จำนวน 513 ครั้ง พื้นที่เสียหายรวม 20,212 ไร่ ภาคเหนือตอนบน ตรวจพบจำนวน 2,417 จุด ภาคเหนือตอนล่าง จำนวน 453 จุด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 570 จุด ภาคกลาง จำนวน 298 จุด และภาคใต้ จำนวน 15 จุด ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบปี 2560 กับ ปี 2561 พบว่ามีจำนวนลดลงถึง 541 จุด จากสถิติดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานบรรลุผลสัมฤทธิ์ที่ตั้งไว้ได้เป็นอย่างดีโดยกรมป่าไม้นอกจากจะสร้างความรับรู้ ความเข้าใจให้แก่ประชาชนในเรื่องของการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันแล้ว ยังส่งเสริมความมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อสร้างความเข้มแข็งของเครือข่าย ตลอดจนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันและควบคุมไฟป่าอีกด้วย

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีกิจกรรมการสาธิตปฏิบัติการสนธิกำลังในการดับไฟป่า การชมห้องสถานการณ์ควบคุมไฟป่า กิจกรรมการลดปริมาณเชื้อเพลิง โดยนำกิ่งไม้ ใบไม้ หรือวัชพืชมาทำปุ๋ยอินทรีย์ การเดินรณรงค์ป้องกันไฟป่า พร้อมปล่อยกำลังพลลาดตระเวนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยกิจกรรมในครั้งนี้ มุ่งเน้นกระบวนการการมีส่วนร่วม ซึ่งได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการจัดการแก้ไขปัญหา ทั้งภาครัฐภาคเอกชน ภาคประชาชน ทหาร ตำรวจ เครือข่ายความร่วมมือในการควบคุมไฟป่า และเยาวชนในพื้นที่แนวคิดและการใช้อากาศยานไร้คนขับ UAV แม้ว่าวิธีการชิงเผาจะเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุดในการแก้ไขปัญหาแต่ในข้อจำกัดในเรื่องของจำนวนคนที่ใช้ปฏิบัติงานรวมถึงการเข้าถึงพื้นที่เข้าถึงได้ยาก ยังคงเป็นข้อจำกัดในการปฏิบัติงานอยู่

การใช้อากาศยานไร้คนขับจึงเป็นทางเลือกในการแก้ไขข้อจำกัดนี้ พร้อมยังสามารถกำหนดพื้นที่ที่ต้องการชิงเผาสามารถติดตั้งอุปกรณ์เสริมเช่นกล้องและเซ็นเซอร์ต่างๆจากแนวคิดที่จะทำการเผาเชื้อเพลิงในพื้นที่เข้าถึงได้ยากนวัตกรรมที่ทางกลุ่มนำมาใช้จึงมีหลักการคือ การบรรทุกอุปกรณ์จุดไฟที่เป็นสารเคมีที่ไม่เป็นอันตรายต่อคนและสัตว์สามารถหาได้ง่ายๆมีราคาถูกโดยบรรจุสารเคมีเพื่อผสมกันและจะเกิดการลุกไหม้โดยด่วนจะทำการผสมสาร 2 ตัวกลางอากาศในภาชนะปิดและปล่อยให้ตกลงตรงเป้าหมายเพื่อทำการจุดเชื้อเพลิงต่อไปใช้เวลาประมาณ 10 ถึง 60 วินาที สารเคมีก็จะเกิดการลุกไหม้เผาเชื้อเพลิงที่ตกค้างภายในป่า ซึ่งเหมาะสมสำหรับการชิงเผาในพื้นที่ที่เป็นภูเขาสูงชัน