สกู๊ปข่าว » บันทึกความทรงจำของผู้หญิงเก่งหัวใจแกร่ง”อัญชลี กัลมาพิจิตร”ผู้บริหารปางช้างแม่สาและนายกเหล่ากาชาดจังหวัดมุกดาหาร

บันทึกความทรงจำของผู้หญิงเก่งหัวใจแกร่ง”อัญชลี กัลมาพิจิตร”ผู้บริหารปางช้างแม่สาและนายกเหล่ากาชาดจังหวัดมุกดาหาร

2 ตุลาคม 2024
227   0

Spread the love

คนเราทุกคนย่อมมีอดีตและความทรงจำของชีวิตที่ผ่านโลกนี้มา ที่มีทั้งขมขื่นและงดงามยิ่งในแต่ละห้วงของชีวิตที่ผ่านมาตั้งแต่เยาว์วัยจนถึงปัจจุบันที่ผ่านทั้งเหตุการณ์และผู้คนที่ได้ผ่านพบเจอในทุกๆรูปแบบ ทั้งตราตรึงอยู่ในความทรงจำและลืมมันไปบ้างกับสิ่งที่ไร้สาระของชีวิต วันนี้ผู้เขียนได้อ่านบันทึกความทรงจำของผู้หญิงแกร่งหัวใจเก่ง ที่ผ่านมาทุกรสชาดของชีวิตทั้งหอมหวานและ ขมขืนจนแทบกลืนเลือดตัวเองลงคอ แต่ก็พาชีวิตผ่านไปได้ ถึงแม้จะไม่สุขกาย และสุขใจ

แต่ถือเป็นประสบการณ์ความทรงจำที่เป็นบทเรียนบทบันทึกหน้าหนึ่งของชีวิตที่ผ่านพบมาในทุกรูปแบบ วันนี้จะพามารู้จักกับ “คุณ อ๋อย” อัญชลี กัลมาพิจิตร บุญณราช ผู้บริหารปางช้างแม่สา และนายกเหล่ากาชาดจังหวัดมุกดาหาร ในฐานะภริยานายวรญาณ บุญณราช ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร โดยเขียนบันทึกในเสี้ยวหนึ่งของชีวิตให้ได้รับรู้กันมา เธอได้ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านเรื่องราวและผู้คนจนรู้ใจ รู้เห็นเป็นเช่นใดทั้งต้องจดจำและละทิ้งไปในความทรงจำ และทุกวันนี้มีมีจิตใจที่เข้มแข็ง พร้อมที่จะเดินหน้าต่อไปในทุกๆเรื่องที่รออยู่ข้างหน้าอย่างไม่หวั่นเกรง

ความทรงจำตั้งแต่เยาว์วัยที่อยู่กับการเลี้ยงช้างในปางช้างแม่สา ที่ได้ชื่อว่าใหญ่ที่สุดในภาคเหนือและเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันดับต้นๆของประเทศไทย และการมารับหน้าที่นายกเหล่ากาชาดจังหวัดมุกดาหาร ที่ต้องทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจในตำแหน่งที่ได้รับและยังต้องดูแลบริหารปางช้างให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างถาวรมั่นคงสืบต่อไป มาติดตามบันทึกความทรงจำของ”อัญชลี กัลมาพิจิตร บุญณราช”ได้แล้วครับขอเริ่มตั้งแต่ชีวิตในปางช้างแม่สา จนไปสู่ ชีวิตนายกเหล่ากาชาดจังหวัดมุกดาหาร

“เมื่อเดือนเมษายน ปี 2519 เมื่อพ่อเริ่มเลี้ยงช้าง ดิฉันมีอายุเพียง 9 ขวบ ความผูกพันและการมองเห็นช้างของเราจึงไม่เท่ากัน ดิฉันเคยมองเห็นช้าง มองเห็นควาญ มองเห็นการเลี้ยงดูในมุมของเด็กมาก่อน ดิฉันเคยลงเล่นน้ำในแอ่งน้ำของช้างตามประสาเด็ก เหยียบย่ำอยู่บนสิ่งปฏิกูล ซึ่งเป็นวิถีดั้งเดิม มีคำอธิบายมากเป็นล้านคำ แต่พูดออกมาให้หมดไม่ได้ว่าด้วยเรื่องการเลี้ยงช้าง วันนี้ขอพูดความจริงไม่โกหก จากกระแสการต่อต้านการนำช้างมาใช้ในการท่องเที่ยว ที่ยังพอมีทางออก ย้ำว่าทุกเรื่องมีทางออกเสมอ ความจริงที่เราต้องยอมรับว่าการต่อต้านเรื่องการนำช้างมาฝึก มาขี่ มาโชว์ มาทำกิจกรรมใดๆล้วนเป็นเรื่องที่สังคมจะไม่ยอมรับทั้งสิ้นในปี พ.ศ.นี้
ถึงเวลาเข้มแข็งก็เข้มแข็งนะ คนคนเดียวรับผิดชอบร้อยอย่างพันอย่าง หลังพ่อตายก็มีเรานี่แหละ รับไว้เองทุกอย่าง ตอนพ่ออยู่ก็ไม่ได้คุยกัน ได้ยินพ่อว่าถ้าไม่เลี้ยงช้างแล้ว ก็คงเอาไปปล่อยป่า ป่าตรงไหนก็ลืมถามนะ เวลานี้ถ้าเอาช้างเลี้ยงไปปล่อยป่า ก็ตายกันพอดี สุดๆเลยนะชีวิต วันนี้มี 63 เชือก ขอนับพลายหนึ่งไว้ด้วยก่อนเลยนะ แล้วถ้าพังมีนาท้องก็ จะมี 64 เชือก ทุกวันที่เราหายใจเข้าออก เราได้เลี้ยงช้าง ให้เขาอิ่ม ให้เขามีความสุข ให้เขาปลอดภัย พ่อสั่งว่าให้อัญชลีเลี้ยงช้างจนเห็นช้างยิ้ม หลังโควิดมาช้างแม่สายิ้มตลอด เพราะไม่ต้องทำงานหนัก คงบรรลุเป้าหมายของพ่อแล้ว อยากบอกพ่อว่าลูกเหนื่อย แต่พ่อคงรู้แล้วล่ะ


ชีวิตคนเลี้ยงช้าง มันคือชีวิตที่ต้องอดทน ต้องต่อสู้ มากกว่าคนอื่นๆเป็น 100 เท่าที่ผ่านมา เราต้องผ่านปัญหาอุปสรรคในชีวิตมากมาย เจ็บปวดแค่ไหนเราก็ยังผ่านมาได้เราไม่เคยคิดทำร้ายใคร และใครก็อย่าได้คิดทำร้ายเรา

สมัยที่ตัดสินใจไปเรียนที่อังกฤษ อายุเพียง 13 ปี ไปถึงก็อายุครบ 14 ปีพอดี ไปอยู่กับอาที่มีครอบครัว มีบ้านอยู่ในเมืองเวมบลี่ บ้านคนอังกฤษเขาจะเหลือด้านหลังไว้เป็นสวน ด้านหน้าติดถนน ในสวนมีต้นแอบเปิ้ลที่เปรี้ยวมาก และในตู้เย็นบ้านอาก็มีน้ำปลาหวานขวดใหญ่ที่มาจากเมืองไทย บางวันเราก็แอบเอามาจิ้มกับแอบเปิ้ลเขียว พยายามไม่ให้พร่องลงไปมากอามีฐานะดี มีรถโรลสรอยส์ รถเบนซ์เปิดประทุน เวลาเขาออกไปซื้อไวน์ช่วงหัวค่ำ เขาจะเอาเรานั่งรถเบนซ์ไปด้วย กลับมาเราก็เวียนหัวเลย ไม่ชินกับการนั่งรถสปอร์ต

บ้านนี้มีตู้ปลาขนาดใหญ่ มีห้องยิม ที่อาผู้ชายห้ามเราเข้าไป เพราะเขาจะออกกำลังกายแบบให้เห็นกล้าม และมีห้องซาวน่าด้วย อาของเราเป็นอาผู้หญิง มีลูกสาวสองคน คนโตไปโรงเรียนแล้ว และคนเล็กเป็นเบบี๋ มีแม่บ้านคนไทยทำงานแบบไปกลับ เขาจะรอเราเรียนหนังสือกลับมาแล้วเขาถึงจะกลับบ้านเขา ส่วนอามีบริษัทขายเครื่องประดับอยู่ในเมือง เขาจะกลับค่ำหน่อย เราก็ดูแลลูกให้เขา

ที่บ้านอามีนิตยสารขวัญเรือนทุกเล่ม เขาส่งมาจากเมืองไทย เราชอบอ่านเรื่องการลดน้ำหนัก ดูแลความงาม เพราะไปอยู่ที่อังกฤษแล้ว ต้องกินพวกขนมปัง กินของหวานทำให้ตัวใหญ่ขึ้น น้ำหนักขึ้น เสาร์-อาทิตย์ เราจะได้ไปทำงานที่บริษัท ร่วมกับคนไทย คนอินเดีย เพราะเมืองนี้มีคนอินเดียอยู่เยอะมาก เราจะนั่งประกอบเครื่องประดับเงิน เครื่องเงินจะส่งมาจะเป็นปี๊บๆ แยกกันมา แล้วเราเอามาประกอบเป็นคู่เช่นพวกตุ้มหู อาจะมีแคตตาล๊อคและเอาไปขายตามงานที่จัดในแต่ละเมือง ช่วงหลังเขาได้ลงในแมกกาซีน มีคนสั่งซื้อ ขายดีมาก อาเริ่มต้นธุรกิจนี้หลังจากที่อพยพไปอยู่อังกฤษ อาผู้หญิงเคยทำงานธนาคาร และปู่เราเป็นคนดูแลส่งเครื่องเงินให้ลูกสาวเอาไปขาย ซึ่งในปัจจุบันอาก็ตั้งโรงงานผลิตเองที่สันกำแพง และมีบ้านหลังใหญ่อยู่ที่เชียงใหม่ด้วย บ้านเชียงใหม่เขามีสระว่ายน้ำส่วนตัวอินดอร์ มีห้องที่เขาเก็บรูป เก็บความทรงจำต่างๆ ของครอบครัว ครอบครัวเขาได้ไปเที่ยวด้วยกันมาเกือบทั่วโลก

ทุกวันนี้อาผู้ชายไม่อยู่แล้ว ส่วนอาฉันก็เลือกอยู่อังกฤษ ลูกสาวสองคนแต่งงานกับคนต่างชาติทั้งคู่ มีหลานกันไปหมดแล้ว อาเป็นคนประหยัด แต่งตัวธรรมดา ใช้ชีวิตธรรมดา แต่เขาได้ท่องเที่ยว เห็นโลกมาเยอะ นั่นคงเป็นกำไรชีวิตของเขา ส่วนฉันอยู่กับอาไม่นาน ก็ย้ายเข้าลอนดอน ไปอยู่หอพัก เพราะใกล้สถานที่เรียน ฉันเป็นคนที่ไม่เลือกเรียนวิชาเลขานุการ และแอร์ไลน์ทิคเก็ต หรือสายการบิน ซึ่งตอนนั้นใครไปก็จะเรียนสองสายนี้ ถ้าเรียนเลขานุการจะได้เรียนช็อตแฮนด์ การจดบันทึกแบบย่อ ถ้าไปเรียนสายการบิน เราก็จะได้เรียนเรื่องทิคเก็ต การออกตั๋ว อะไรแบบนี้ เป็นยุคที่โลกจะต้องใช้วิชาเหล่านี้

ตัวฉันไปเรียนแฟชั่นดีไซน์ เพราะสถาบันมีชื่อเสียงมาก มีคนไทยไปเรียนหลายคนมาจากตระกูลดังๆ เราเรียนกันสนุกมาก เทอมแรกทำแฟชั่น ใส่เดินแคทวอร์ค อาจารย์ให้ทำธีมโจรสลัด เรามีเพื่อนเป็นฝรั่ง และมีคนไทยสองคนในคลาส เพื่อนมาจากไอซ์แลนด์ก็มี บางคลาสก็สอนแต่งหน้า สอนมารยาท สอนเดิน ลุก นั่ง อาจารย์ที่สอนออกแบบเสื้อผ้าเป็นผู้ชาย ที่ใส่สูทมาสอนทุกวันแบบผู้ดีอังกฤษ ส่วนอาจารย์ใหญ่ก็ลุคมาดาม ไม่รู้ว่าจะยังมีชีวิตอยู่กันหรือไม่ แต่สถาบันเก่าแก่นี้ก็ปิดตัวลงไปเรียบร้อยแล้ว เป็นโรงเรียนที่สอนเรื่องผู้ดีอังกฤษ การเข้าสังคม และอื่นๆอีกมากมาย ถึงเราจะไม่ได้ใช้วิชาที่เรียนมาโดยตรง เรื่องการตัดเย็บเสื้อผ้า แต่ก็ได้ใช้ในบริบทอื่นๆในการเข้าสังคม ทำอะไรก็ให้ใกล้เคียงมาตรฐานความถูกต้องและเป็นสากล

นึกถึงชีวิตที่ผ่านมา ก็มีความสุขในหลายช่วงชีวิต และมีความทุกข์ด้วยเช่นกัน เพราะเป็นสัจธรรมที่เราล้วนแต่ต้องพบเจอ
บันทึกไว้ในยามว่าง 2 ตุลาคม 2567 ไม่เขียนเรื่องใคร เขียนเรื่องตัวเราเอง ภูมิใจในตัวเอง ชีวิตเราผ่านอะไรมาก็มาก และจะผ่านไปอีกสิบครั้ง ร้อยครั้ง พันครั้ง หมื่นครั้ง มันสำคัญไหม ที่ต้องให้คนอื่นมาเห็น มันไม่สำคัญหรอก เพราะว่าเราจะนั่งตรงไหน จะยืนตรงไหน เราก็คือเรา อย่าเปลี่ยนตนเอง เพียงเพราะเขาอยากให้เราเป็น