ไม่มีหมวดหมู่ » รองแม่ทัพภาคที่ 3 ประชุมผู้ว่าฯ 9 จังหวัดภาคเหนือ บังคับใช้กฎหมายห้ามเผาป่าเด็ดขาด

รองแม่ทัพภาคที่ 3 ประชุมผู้ว่าฯ 9 จังหวัดภาคเหนือ บังคับใช้กฎหมายห้ามเผาป่าเด็ดขาด

15 กุมภาพันธ์ 2019
690   0

Spread the love

รองแม่ทัพภาคที่ 3 กำชับผู้ว่าฯ 9 จังหวัดภาคเหนือ บังคับใช้กฎหมายห้ามเผาป่าเด็ดขาด โดยตั้งกองบัญชาการควบคุมสถานการณ์หมอกควันภาคเหนือ พร้อมระดมกำลังพลและยุทโธปกรณ์เข้าแก้ไขอย่างเร่งด่วนแบบไม่แบ่งแยกพื้นที่

เมือ เวลา 10.00 น. วันที่ 15 กุมภาพันธ์ นี้ที่ สโมสรค่ายกาวิละ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ พลตรีบัญชา ดุริยพันธ์ รองแม่ทัพภาคที่ 3 เป็นประธานการแถลงแนวความคิดในการควบคุมสถานการณ์หมอกควันภาคเหนือ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน เข้าร่วมประชุม ซึ่งรัฐบาลได้ให้กองทัพภาคที่ 3 จัดตั้งกองบัญชาการควบคุมสถานการณ์หมอกควันภาคเหนือ กองทัพภาคที่ 3 ส่วนหน้าขึ้น เพื่อบูรณาการร่วมกันในการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงในแต่ละพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อบริหารจัดการกำลังและยุทโธปกรณ์ที่มีอยู่ของแต่ละหน่วยงานให้เกิดความสอดคล้องอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด พร้อมทั้งระดมแนวความคิดในการปฏิบัติของแต่ละภาคส่วน โดยใช้กรอบแนวความคิดในการควบคุมสถานการณ์หมอกควันภาคเหนือไปในทิศทางเดียวกัน

ทั้งนี้ จังหวัดเชียงใหม่ กำหนดมาตรการแก้ปัญหาฝุ่นละอองเป็นวาระเร่งด่วน ซึ่งได้กำหนดช่วง 61 วัน ห้ามเผาเด็ดขาดตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม – 30 เมษายน 2562 แต่หลังจากปัญหาฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่จึงได้ประกาศงดการชิงเผาอย่างเด็ดขาด ห้ามเผาทุกกรณี ทุกพื้นที่ จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น พร้อมกำชับให้ดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้ที่เผาในที่โล่งหรือพื้นที่ป่าอย่างเข้มงวด รวมทั้งระดมทุกภาคส่วนทำความสะอาดถนน และฉีดพ่นน้ำสร้างความชุ่มชื้น ตั้งแต่เวลา 05.00 – 06.30 น. และ 14.00 – 15.30 น. บริเวณรอบคูเมืองทุกวัน ขณะเดียวกันยังได้กำชับให้แหล่งกำเนิดมลพิษฝุ่นละอองและฝุ่นควันทั้งบนพื้นถนน ทั้งการก่อสร้างอาคาร การประกอบกิจการอุตสาหกรรมโรงงาน และการประกอบกิจกรรมต่างๆ ต้องไม่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองแพร่กระจาย

 

ด้าน พลตรีบัญชา ดุริยพันธ์ รองแม่ทัพภาคที่ 3 เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 9 จังหวัดภาคเหนือ เข้มงวดกับการบังคับใช้กฎหมาย และย้ำให้ อปท. ผู้นำหมู่บ้าน ผู้นำชุมชน เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการสอดส่องดูแลห้ามมีการเผาทุกชนิดอย่างเด็ดขาด ไม่สามารถอ้างได้ว่าเป็นวิถีชีวิตมาตั้งแต่อดีต ซึ่งสมัยก่อนกับสมัยนี้ไม่เหมือนกัน ขณะเดียวกัน ได้ระดมกำลังทหารมาปฏิบัติงานในชุดปฏิบัติการดับไฟป่า และการใช้อากาศยาน (ฮ. MI 17) เพื่อดับไฟป่าในพื้นที่ที่ลำบาก ไม่สามารถใช้เจ้าหน้าที่เข้าไปได้ ซึ่งเป็นการบูรณาการกันระหว่างตำรวจ ทหาร และภาคประชาชน จะมาแบ่งเป็นจังหวัดไม่ได้แล้ว โดยทหารได้นำกำลังกว่า 500 นาย รวมทั้งยุทโธปกรณ์ ยานยนต์ และอุปกรณ์ดับไฟป่า มาช่วยในแต่ละพื้นที่ที่มีปัญหาหมอกควันไฟป่า โดยเฉพาะดอยพระบาทในจังหวัดลำปางที่จะลงพื้นที่อย่างเร่งด่วน เมื่อแก้ปัญหาให้คลี่คลาย แล้วจะประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับช่วงต่อ แล้วจะย้ายไปลงพื้นที่อื่นที่ประสบปัญหาหมอกควันไฟป่า เพื่อให้สามารถควบคุมสถานการณ์โดยการติดตามประเมินผลตามห้วงเวลาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้สามารถแก้ไขสถานการณ์หมอกควันที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ได้อย่างทันท่วงที

 

โดยห้วงเดือน มกราคม – เมษายน ของทุกปี ภาคเหนือตอนบนต้องเผชิญปัญหาหมอกควันเป็นประจำทุกปี ซึ่งต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2562ที่ผ่านมา มีค่าจุด Hotspot มากที่สุดในห้วงวันที่ 8-10กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ โดยมีสาเหตุมาจากปัจจัยหลัก 3 ประการ ได้แก่ ปัจจัยสภาพภูมิประเทศ เป็นพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นแอ่งกระทะและมีภูเขาล้อมรอบ ปัจจัยที่สองคือปัจจัยทางอุตุนิยมวิทยา เนื่องจากอากาศนิ่ง ลมสงบและความกดอากาศสูง ทำให้เอื้ออำนวยต่อการกักตัวของมลพิษ และปัจจัยที่สาม คือ การกระทำของมนุษย์ อาทิ การเผาในที่โล่ง การเผาป่าเพื่อล่าสัตว์ และเก็บของป่าเพื่อนำมาขาย

โดยการดำเนินแก้ไขปัญหาหมอกควันที่ผ่านมา ได้ใช้มาตรการต่างๆ เป็นแนวทางให้กับหน่วย ในพื้นที่ได้ไปดำเนินการ ซึ่งทำให้สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ในระดับหนึ่ง ด้วยการรณรงค์ สร้างจิตสำนึก การมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคเอกชน เครือข่ายภาคประชาชน รวมทั้งการร่วมมือกันระหว่างประเทศ แต่เนื่องจากสถานการณ์หมอกควันในห้วงนี้ มีแนวโน้มเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง กองทัพภาคที่ 3 ได้จัดตั้ง กองบัญชาการควบคุมสถานการณ์หมอกควันภาคเหนือ กองทัพภาคที่3 ส่วนหน้า ขึ้น เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562เพื่อบูรณการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันแก้ไขปัญหาเชิงประจักษ์ รวมทั้งวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงที่ต้องเพ่งเล็ง เพื่อจัดกำลังและยุทโธปกรณ์ที่มีอยู่ ของแต่ละหน่วยงาน ให้เกิดความสอดคล้องอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด พร้อมทั้งระดมแนวความคิด ในการปฏิบัติของแต่ละภาคส่วน โดยมีกรอบแนวความคิดในการควบคุมสถานการณ์หมอกควันภาคเหนือ ดังนี้ปฏิบัติแยก โดยการดำเนินการเป็นพื้นที่จังหวัดพื้นที่ 2 ข้างทาง (ทางหลวง) : กรมทางหลวงพื้นที่ 2ข้างทาง (ทางหลวงชนบท) : กรมทางหลวงชนบทพื้นที่ป่าไม้ และป่าสงวน : สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้พื้นที่ป่าอนุรักษ์: สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ พื้นที่ทำกิน: ผู้เข้าใช้ประโยชน์
พื้นที่สาธารณะ/ชุมชน/หมู่บ้าน: ท้องที่/ท้องถิ่น

โดยมีมาตรการหลัก กำหนดห้วงเวลาห้ามเผาเด็ดขาด, หน่วยดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง (ยึดคืนที่ดินทำกิน),มุ่งเน้น พื้นที่เร่งด่วน คือ จังหวัดเชียงใหม่ และ จังหวัดลำปาง สำหรับมาตรการรอง : ด้วยการบูรณาการหน่วยงานหลักในพื้นที่ (จว./กอ.รมน.จังหวัด, ภ.จว. และ กกล.รส.จว.),การเฝ้าติดตาม/ตรวจสอบ พื้นที่ โดยหน่วย รส.ประจำอำเภอ,ประสานการปฏิบัติกับส่วนราชการในพื้นที่อำเภอเข้าดำเนินการแก้ไข,มาตรการเสริม : กรณีตรวจพบพื้นที่ไฟไหม้เกินขีดความสามารถใช้กำลัง ร้อย.ทพ./กกล.รส.จว. ที่จัดเตรียมไว้เข้าพื้นที่ ดับไฟ,ใช้ ฮท. ๑๗ (MI 17) ยกหิ้วน้ำ เข้าพื้นที่ ทิ้งน้ำ, ใช้ เครื่องบินทหารอากาศโปรยละอองน้ำในอากาศ, ประสานศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือในการเข้าทำฝนเทียม,ประสาน ปภ.เขต สนับสนุนในพื้นที่วิกฤติทั้งนี้เพื่อให้สามารถควบคุมสถานการณ์โดยการติดตามประเมินผลตามห้วงเวลาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้สามารถแก้ไขสถานการณ์หมอกควันที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ได้อย่างทันท่วงที