การแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอก3 สร้างความเดือดร้อนอย่างรุนแรงไปทุกหนทุกแห่งทั้งคนและสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์ใหญ่เช่นช้างที่อยู่ในปางช้างต่างๆสำหรับผู้ประกอบการที่มีช้างเลี้ยงไว้จำนวนมากอย่างศูนย์อนุรักษ์แม่สา หรือปางช้างแม่สา อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ซึ่งถือว่าเป็นปางช้างที่มีช้างเลี้ยงถึง 73 เชือกโดยโควิดรอบแรกยังส่งผลกระทบไม่มาก แต่รอบที่สองรุนแรงแต่ก็ยังทนอยู่ได้ แต่พอมารอบที่สาม เงินที่ใช้ประคับประคองในการดูแลคนและช้างเกลี้ยงหมดถึง 41 ล้านบาท ทำให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงอาจถึงขั้นทำให้ปางช้างแตกสลายลงเพราะไม่สามารถจะทำอะไรได้อีกต่อไป
ในเรื่องนี้ ผู้สื่อข่าวได้ถามนางอัญชลี กัลมาพิจิตร ผู้บริหารงานดูแลปางช้างแม่สา ได้ระบายด้วยความท้อใจและสิ้นหวังว่าตนไม่อยากพูด เพราะเวลานี้มันเกินเวลามาเยอะแล้ว จากแผนงานต่างๆ หรือ การเชิญประชุม ขอความร่วมมือ ทุกคนทำมาหมด ในเรื่องความรู้ วิชาการ ประสบการณ์ ตนว่าทุกคนมี อย่างแม่สา ตนก็ต้องเอาตัวเองให้รอด ดีที่มีแค่ 73 เชือก และ พ่อพันธุ์ตายหมด เลยไม่ผสมให้มีมากขึ้น เพราะมีมากขึ้น ก็ค่าใช้จ่ายมากขึ้น ทั้งค่าควาญ ค่ากิน พื้นที่ที่ต้องใช้ ยารักษาโรคต่างๆ เวลานี้ตนรู้ว่าทำอย่างไรจะแก้ปัญหา ถ้าตนมีเงิน ตนก็แก้ได้ทุกอย่าง
ทุกวันนี้คนเลี้ยงช้างลำบากทุกคน รวมถึงคนที่ต้องมีหน้าที่ดูแลช้างป่าด้วย ช้างบ้านปัญหาก็อย่างหนึ่ง ช้างป่าก็มีปัญหาอีกอย่างหนึ่ง แต่ถ้าไม่แยก เขาก็คือ”ช้าง”เหมือนกัน ช้างตาย คนตาย ไม่ได้เป็นผลดีต่อเราทั้งคู่ ผลกระทบมันลุกลามไปหมด เราต้องคอยแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพราะการแก้ให้ตรงจุดยังไม่มี สิ่งที่ทำคือการประคับประคองช้าง และคนไปพร้อมกับปัญหา ที่ตนพูดได้เต็มปาก เพราะรับผิดชอบช้างแม่สาอยู่ 73 เชือก คนเลี้ยงช้างอีกเป็นร้อยและช้างแม่สาก็มีช้างหลากหลายทั้งเพศและวัย มีความน่ารัก มีความน่าเกรงขาม มีความน่าอันตราย รวมอยู่ทั้งหมด ถามว่าเรามีทางเลือกไหม ไม่มี ใครเลี้ยงช้างหรือครอบครองช้างอย่างไร ย่อมรู้ดี
เรื่องช้างมันมีที่มาที่ไป ไม่ใช่อยู่ๆก็กลายมาเป็นปัญหา สมัยหนึ่งแย่งกันหา แย่งกันซื้อ เพราะทำเงินได้มาก แต่ตอนนี้ใครมีช้างก็มีแต่ภาระ คิดถึงวันเก่าๆแทบไม่ออก ใครมีช้างมาก บารมีมาก ตอนนี้ใครมีมาก เอาอาหารที่ไหนให้ช้างกิน ช้างกินได้ทั้งวันทั้งคืน จะไม่เลี้ยงก็ไม่ได้ นึกถึงความรัก ความผูกพัน ราคา มูลค่าทรัพย์สิน โควิดมาสามรอบ ท่องเที่ยวพังไปแล้ว ไม่มีเวลาที่แน่นอนว่าจะกลับมาอีกเมื่อไหร่ ช้างคงจะต้องถูกลดการดูแลลงมาก ทั้งค่าอาหาร ค่ายา คุณภาพที่เคยมี คือถูกเลี้ยงตามสภาพ ตามความสามารถของคนเลี้ยง และอะไรคือการช่วยเหลือกัน เอาตรงๆ คือตอนนี้ใครก็ช่วยอะไรใครไม่ได้ ทุกคนมีภาระของตนเองหมด
สรุปคือ ตัวใครตัวมันไปก่อน ขอให้ช้างอย่าอดมาก ถ้าอดมาก เขาจะอารมณ์เสีย อดมากๆอีกระดับเขาก็หมดแรง เพราะร่างกายต้องการวิตามิน แร่ธาตุเหมือนมนุษย์ ยิ่งในช้างที่เป็นพ่อพันธุ์ หรือช้างเพศผู้ อาหารต้องดีทั้งปริมาณและคุณภาพ เราจะหากันจากที่ไหน ในเวลานี้ อย่างตนต้องหาอาหารเข้าปางวันละ 9,000 – 10,000 กิโลกรัม หารเฉลี่ยกันไป จะอาศัยอาหารจากนักท่องเที่ยวซัก 10% ก็ไม่มีแล้ว การออกมาหาเงินจากชาวบ้านไปเลี้ยงช้างตนเอง ก็ดูไม่เหมาะ แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะคนเลี้ยงช้างทุกคน ต้องการความช่วยเหลือ ช้างตัวโตกินมาก กินอนาคตคนได้ก็แล้วกัน
“ในช่วงการแพรีระบาดไวรัสโควิดรอบแรก เราก็ยังมีช่องทางในการหาอาหารให้ช้างได้บ้างไม่ว่าจะเป็นการขายปุ๋ยมูลช้าง และปลูกหญ้าให้ช้างและช่องทางในการหาเงินมาเลี้ยงช้าง แต่เมื่อโควิดมาระลอกสองรายได้จากนักท่องเที่ยวเป็นศูนย์เราก็ยังสู้ไม่หยุด และธุรกิจเกี่ยวกับปุ๋ยมูลช้างที่จะมีการซื้อขายกัน คนที่จะเข้ามาร่วมในธุรกิจก็ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จนต้องยุติกันหายไปเลย ซึ่งโควิดมารอบที่สาม หมดหนทางต่อสู้จริงๆในขณะนี้ต้องลดค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะอาหารช้างก็ต้องลดปริมาณลงหมด ในครั้งนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่จะรักษาปางช้างไว้ต่อไปได้หรือไม่ รอบสามมันสาหัสมาก”นางอัญชลีกล่าวอย่างท้อใจ
สำหรับผู้ใจบุญสามารถช่วยเหลือช้างของศูนย์อนุรักษ์ช้างแม่สา โทรติดต่อสอบถามเพิ่มเติม หรือแจ้งรายละเอียดการโอนเงินได้ที่ 081 882 3738 , 053 206 247-8 นางรัตนา ศรีหมอก ผู้จัดการปางช้างแม่สา หรืออุดหนุนซื้อตะกร้าอาหารเลี้ยงช้างได้ง่ายๆผ่านออนไลน์ โดยโอนผ่านบัญชี ชื่อ มูลนิธิอนุรักษ์ช้างไทยElephant Conservation Foundation ก็สามารถซื่ออาหารเลี้ยงช้างได้//