ท่องเที่ยว » ‘งานศิลปาชีพล้านนาไทย ก้าวไกลด้วยพระบารมี’ ครั้งที่ 1

‘งานศิลปาชีพล้านนาไทย ก้าวไกลด้วยพระบารมี’ ครั้งที่ 1

7 กุมภาพันธ์ 2019
769   0

Spread the love

เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 86 พรรษาในวันที่ 12 สิงหาคม 2561 และสืบทอดพระปณิธานในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ที่ทรงมีต่อสตรีไทยในด้านศิลปาชีพ และบทบาทหน้าที่ของสตรีไทย ตลอดจนส่งเสริมสนับสนุนให้สตรีไทยได้มีความรู้ความสามารถตามหลักการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อเป็นพลังในการพัฒนาสังคมและประเทศชาติ และยกย่องเชิดชูสตรีไทย ด้วยการสร้างค่านิยมที่ดีให้สังคมให้ยอมรับบทบาท ความสามารถ และคุณค่าของสตรีไทย ตลอดจนเป็นการรวมพลังของสตรีและกลุ่มองค์กรสตรีในจังหวัดเชียงใหม่ ให้มีความเข้มแข็งภายใต้บริบทของจังหวัดเชียงใหม่ ในการร่วมมือกันทำกิจกรรมการกุศลสำหรับดำเนินงานพัฒนาอาชีพสตรีเด็ก และผู้ด้อยโอกาสในจังหวัดเชียงใหม่

น.ส.วรัญญา เลิศวรกิจพิพัฒน์ นายกสมาคมสตรีนครเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ทางสมาคมสตรีนครเชียงใหม่ จึงร่วมมือกับองค์กรพันธมิตร ประกอบด้วย สภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ ท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเชียงใหม่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานเชียงใหม่ ตำรวจภูธรภาค 5 และเทศบาลเมืองแม่เหียะ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จัดโครงการจัดงานศิลปาชีพล้านนาไทย ก้าวไกลด้วยพระบารมี ครั้งที่ 1 ประจำปี 2562 ระหว่างวันศุกร์ที่ 8 – วันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ 2562 ​ณ ห้องสักทอง/ราชพฤกษ์ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

​จากความสนพระราชหฤทัยอย่างจริงจังของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ในอันที่จะส่งเสริมอาชีพหัตถกรรมของราษฎร เมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยียนหมู่บ้านต่างๆ ขณะตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ซึ่งเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับแรม ณ พระตำหนักในต่างจังหวัด ทรงมีพระราชดำริครั้งแรกในการส่งเสริมอาชีพหัตถกรรมขึ้นเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.2508 ระหว่างประทับที่พระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทั้งสองพระองค์เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมเยียนราษฎรที่หมู่บ้านเขาเต่า และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงชักชวนให้หญิงชาวบ้านหัดทอผ้าฝ้ายขาย โดยโปรดเกล้าฯ ให้จัดหาครูทอผ้าจากจังหวัดราชบุรีมาช่วยสอน ปรากฏว่า กิจการทอผ้าขาวม้าและผ้าซิ่นพื้นเมืองดำเนินไปด้วยดีพอสมควร ถือได้ว่าเป็นพระราชกรณียกิจแรกทางด้านการส่งเสริมอาชีพหัตถกรรมแก่ราษฎร ที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงริเริ่มขึ้น

ขณะที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระราชปรารภว่า “…การพระราชทานสิ่งของให้แก่ชาวบ้านนั้น เป็นเพียงการช่วยเหลือเฉพาะหน้า ควรจะหาวิธีที่ช่วยให้ชาวบ้านสามารถพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาวต่อไป..” สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 จึงโปรดเกล้าฯ ให้ส่งเสริมการทอผ้าไหมพื้นเมืองทุกชนิด ทั้งผ้าไหมสีพื้น และผ้าไหมลายพื้นเมืองต่างๆ นอกเหนือจากผ้าไหมมัดหมี่ เช่น ผ้าไหมหางกระรอก ผ้าไหมลายลูกแก้ว ผ้าไหมแพรวา ผ้าไหมลายขิด ส่วนชาวบ้านที่ทอผ้าไม่เป็น ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และทรงรับซื้อเส้นไหมส่งไปให้ผู้ที่มีความสามารถในการทอผ้า จนการ ‘ทอผ้าไหม’ ยกระดับเป็นโครงการส่งเสริมอาชีพที่สร้างรายได้แก่ราษฎรอย่างกว้างขวางในที่สุด นับเป็นจุดเริ่มต้นของการศิลปาชีพไทยมาจนถึงทุกวันนี้

​อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลาเกือบ 70 ปีที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเคียงคู่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระองค์ทรงให้ความสำคัญต่อสตรีไทยมาอย่างต่อเนื่อง ทรงยกย่องสตรีไทยว่าเป็นผู้ที่มีคุณค่ายิ่ง ดังที่มีกระแสพระราชดำรัสใจความสำคัญว่า “…ผู้หญิงไทยมีส่วนช่วยบ้านเมืองมาโดยตลอด ถึงคราวจำเป็นต้องออกศึกผู้หญิงไทยก็ปฏิบัติได้เป็นอย่างดี นำชื่อเสียงเกียรติคุณมาสู่ประเทศ ผู้หญิงไทยเป็นนักเศรษฐกิจประจำครอบครัว ทำงานได้หลายด้านหลายทาง รู้จักปรับตัวให้เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อมตามกาลสมัย ยึดการดำเนินชีวิตในทางสายกลาง จึงไม่ค่อยประสบปัญหาขัดแย้งกับผู้ที่อยู่ใกล้ชิด ไม่ทำให้เกิดความรู้สึกว่าตนเองด้อยกว่าผู้ชาย ผู้หญิงไทยเราเก่ง แต่ไม่ทำอวดเก่ง…”พระราชดำรัส ในโอกาสเสด็จฯ ทรงเปิดงาน เคหศิลป์ ครั้งที่ 7 ณ สวนลุมพินี วันที่ 5 กรกฎาคม 2512