เมื่อเวลา 06.09 น.วันที่18 ก.พ. 2566 ครูบาน้อย เตชปัญโญ หรือ พระครูสิริศิลสังวรณ์ อายุ 72 ปีเกจิอาจารย์ล้านนา เจ้าอาวาสวัดศรีดอนมูล อ.สารภี จ.เชียงใหม่ออกนิโรธกรรมหลังจากที่เข้านิโรธกรรมตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ.โดย อดอาหาร ฉันน้ำ 1 บาตร เป็นเวลา 3 วัน 3 คืนอยู่ในกระท่อมฟางที่มีรั้วไม้ไผ่ล้อมรอบ7 ชั้นภายในบริเวณวัด
โดยมีศิษยานุศิษย์นับพันมารอตักบาตรทำบุญในการออกนิโรธกรรมในครั้งนี้โดยครูบาน้อยได้นั่งสมาธิท่ามกลางอากาศที่หนาวเย็นและฝนตกลงมาตลอดในช่วงที่เข้านิโรธกรรม3 วัน 15-18 ก.พ. โดยในช่วงที่เข้านิโรธกรรมทางครูบาน้อยจะชักธง”ปราบมารบันดาลโชค”ที่ลงอักขระคาถาไว้ในผืนธงชักขึ้นเหนือกระท่อมฟางในช่วงเข้านิโรธกรรมจะมีเพียงเสียงระฆังเคาะบอกให้ญาติโยมเป็นระยะเท่านั้น จนครบ3 วัน3 คืน
ซึ่งก่อนหน้านี้ ครูบาน้อย เตชปัญโญ หรือ พระครูสิริศิลสังวรณ์ ได้เข้านิโรธกรรมเคยเข้าเป็นเวลานานถึง 9 วัน จากนั้นลดลงมาเหลือ 7 วัน และ 5 วัน จนมาถึง 3 วัน ตามอายุของครูบาน้อย โดยขณะนี้ท่านมีอายุ 72 ปี บรรดาศิษยานุศิษย์ขอให้เข้าเพียง 3 วัน และเป็นครั้งสุดท้าย
สำหรับประวัติครูบาน้อย เตชปญฺโญหรือพระครูสิริศีลสังวร มีนามเดิมว่า ประสิทธิ์ กองคำ (น้อย) เป็นบุตรของคุณพ่อคำ กองคำ และคุณแม่ต๋าคำ กองคำ เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2494 แรม 4 ค่ำ เดือน 3 (เหนือ) ปีขาล ที่บ้านศรีดอนมูล ต.ชมภู อ.สารภี จ.เชียงใหม่มีพี่น้องร่วมบิดา – มารดา เดียวกัน 4 คน เมื่อแรกเกิด เด็กชายประสิทธิ์ กองคำ มีสายรกพันรอบตัว ซึ่งตามความเชื่อของครูโบราณในภาคเหนือได้เล่ากันมาว่า จะได้บวชเป็นพระสืบทอดพระพุทธศาสนาต่อไปและแล้วก็เป็นไปตามความเชื่อของคนโบราณ เด็กชายน้อย ชอบติดตามคุณแม่ต๋าคำไปทำบุญที่วัดในวันพระเสมอ เวลาพระเทศน์ เด็กชายน้อย สำรวม กาย วาจา ใจ ตั้งใจฟังพระเทศน์อย่างใจจดใจจ่อ มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง เมื่ออายุได้ 7 ขวบ คุณแม่ต๋าคำ กองคำ ได้นำไปฝากเป็นเด็กวัดเพื่อเรียนหนังสือกับครูบาผัด (พระครูใบฎีกาผัด ผุสฺสิตธมฺโม) ณ วัดศรีดอนมูล
ซึ่งในสมัยนั้นครูบาผัดเป็นพระที่มีความสามารถทางคาถาอาคม อยู่ยงคงกระพัน และการรักษาผู้ป่วยด้วยยาสมุนไพร จนชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักกันดีในจังหวัดเชียงใหม่ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเด็กชายน้อย ได้รับการพร่ำสอนในเรื่องของ ธรรมมะ อักขระภาษาล้านนา(ซึ่งเป็นภาษาที่รวบรวมคาถาอาคมของคนล้านนาไว้) จากครูบาผัด ด้วยความตั้งใจ เมื่อสิ้นครูบาผัด จึงได้สืบทอดวิชา และการปฎิบัติธรรมที่เคร่งสืบทอดต่อมา จนมีชื่อเสียงด้านปฎิบัติดีปฎิบัติชอบมีลูกศิษย์ที่เลื่อมใสศรัทธาทั้งภายในประเทศและต่างประเทศจำนวนมาก//