“คุณพระช่วย”จริงๆพระภิกษุสงฆ์ร่วมศรัทธาร่วมกันไถ่ชีวิตช้างผลกระทบโควิด-19 พร้อมทยอยช่วยตามปางช้างหลายแห่ง


ที่ วัดป่าดาราภิรมย์ ต.ริมใต้ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่เมื่อวันที่ 19 ก.ย.นี้พระราชวิสุทธิญาณ เจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่-ลำพูน-แม่ฮ่องสอน(ธ) / เจ้าอาวาสวัดป่าดาราภิรมย์ อ.เเม่ริม เชียงใหม่เป็นประธานนำญาติโยมร่วมกันทำพิธีไถ่ชีวิตช้าง ช้างแม่ลูก 3 เชือก จากเจ้าของช้างที่ประสบปัญหาผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถจะเลี้ยงดูช้างต่อไปได้ ทางกลุ่มคณะสงฆ์นำโดยพระครูสังฆรักษ์วีรวัฒน์ วีรวฑฺฒโน หรือพระอาจารย์อ๊อด วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร จ. เชียงใหม่ อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ สาขา การปกครอง มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชสิทยาลัย วิทยาเขตล้านนา (มมร) อ.เมือง เชียงใหม่ ร่วมกับลูกศิษย์นำโดยพลตรีหญิงกชกร ไชยบุตร กรรมการผู้จัดการบ.คุ้มเสือตระการ จำกัด (คุ้มเสือแม่ริม)และ ญาติธรรมจากทิศต่างๆ รวบรวมเงินจำนวน2,999,998 บาท ไถ่ชีวิตช้าง 3 เชือก มีพังแสนดี อายุ 31ปี พร้อมลูกน้อย พลายแสนชัย อายุ 7 เดือน สองแม่ลูกราคา 1,999,999 บาท และพลายแสนล้าน อายุ4 ปี ราคา 999,999 บาท รวมมูลค่า 3 เชือก 2,999,998 บาท โดยทั้ง3 เชือกจะไปนำส่งมอบให้กับศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จ.ลำปางมอบให้เป็นมรดกของแผ่นดินไทยสืบไป

โดยพระราชวิสุทธิญาณ เจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่-ลำพูน-แม่ฮ่องสอน(ธ) / เจ้าอาวาสวัดป่าดาราภิรมย์ ได้ประกอบพิธีสวดและพร้อมมอบสายคล้องช้าง รดนำมนต์โปรยดเอกไม้ ให้กับช้างทั้ง3 เชือก โดยได้ถวายเป็นพระราชกุศลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในหลวงพระราชินีและสมเด็จพระสังฆราช ก่อนส่งมอบสำหรับโครงการไถ่ชีวิตช้าง โดยก่อนหน้านี้ทาง พระครูสังฆรักษ์วีรวัฒน์ วีรวฑฺฒโน ร่วมกับลูกศิษย์ ได้ไถ่ชีวิตช้าง3 เชือก มูลค่า 3 ล้านบาท รวมทั้งหมด 6 เชือกมอบให้ทางศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย ลำปาง เช่นกัน ถือเป็นมหากุศลที่มอบให้กับแผ่นดิน


หลังจากทำพิธีมอบช้างทั้ง 3 เชือกแล้วทางพระครูสังฆรักษ์วีรวัฒน์ วีรวฑฺฒโน พร้อมลูกศิษย์ได้เดินทางไปที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างแม่สา อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่เพื่ออาหารช้างบางส่วนไปช่วยช้างและมอบเงินจำนวน 15,000 บาทเป็นค่าอาหารช้าง ซึ่งแต่ละปางก็ได้รับความเดือดร้อนในช่วงวิกฤติโควิดไร้นักท่องเที่ยว และการช่วยเหลือช้างและสัตว์ต่างๆยังคงจะดำเนินการต่อไปช่วยกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น

นอกจากนี้ยังเดินทางไปยังคุ้่มเสือ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เพื่อดูความเป็นอยู่ของเสือ ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาโควิด-19 พร้อมทั้งมอบเงินจำนวน30,000 บาท ช่วยค่าอาหารเสือ และยังมีโครงการที่จะช่วยเหลือสัตว์ต่างๆต่อไป

รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ ผนึกกำลังอีกครั้ง จับมือ รพ.ประสาทเชียงใหม่ เปิดห้อง ICU ความดันลบ รับผู้ป่วยหนัก COVID-19 ระลอก 4

โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ มช. ร่วมกับ โรงพยาบาลประสาทเชียงใหม่ ผนึกกำลังอีกครั้ง ปรับห้อง ICU ความดันลบ 11 ห้อง รับผู้ป่วยหนัก COVID-19 ระลอกใหม่ ด้านรพ.มหาราชนครเชียงใหม่ ปรับปรุงหอผู้ป่วยโรคปอด ตึกนิมมานเหมินทร์ 10 เตียง รับผู้ป่วยตั้งครรภ์ ผ่าคลอดติดเชื้อโควิด-19 วันนี้ 1 ราย


เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 21 ก.ค.นี้ ผศ.นพ.นเรนทร์ โชติรสนิรมิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เปิดเผยว่า “เนื่องจากในการระบาดระลอกใหม่นี้มีจำนวนผู้ป่วยปานกลางถึงหนักมากเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีความจำเป็นจะต้องเปิดห้อง ICU ความดันลบ เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19 โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ จึงได้ประสานความร่วมมือกับโรงพยาบาลประสาทเชียงใหม่ อีกครั้ง ในการปรับห้อง ICU ความดันลบ จำนวน 10 เตียง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้ป่วยที่มีอาการหนัก เช่น ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ ผู้ป่วยมีอาการปอดอักเสบรุนแรง โดยจะมีบุคลากรทั้งแพทย์ และพยาบาล ที่เชี่ยวชาญในการดูแลผู้ป่วยวิกฤต จากคณะแพทยศาสร์ มช. มาดูแลผู้ป่วยทั้งหมด โดยใช้อุปกรณ์ที่ขนย้ายมาจากโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ มีการประสานกันทั้งอุปกรณ์และระบบยาต่างๆ ที่จะหมุนเวียนจากโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เข้าไปใช้ ซึ่งเป็นการร่วมมือระหว่าง 2 องค์กร เพื่อดูแลผู้ป่วยในภาวะวิกฤตที่ทวีความรุนแรงขึ้นในขณะนี้อีกครั้ง


ขณะเดียวกัน หอผู้ป่วยโรคปอด อาคารนิมมานเหมินทร์ ที่ได้ให้บริการผู้ป่วยโควิด-19 ในรอบที่ 3 มาเป็นเวลายาวนาน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ปิดการให้บริการชั่วคราวเพื่อปรับปรุงห้องในระยะเวลาอันสั้น ได้แก่ ปรับปรุงกล้องวงจรปิด ระบบระบายอากาศ เปลี่ยนไส้กรอง เครื่องกรองอากาศ ประตู ผนัง ฝ้าเพดานที่ชำรุด และตรวจสอบระบบเพื่อความปลอดภัยของบุคลากร พร้อมทั้งได้ย้ายผู้ป่วยไปที่ห้องไอซียูโรงพยาบาลประสาทเชียงใหม่ และปัจจุบันจำนวนผู้ป่วยอาการหนักเพิ่มมากขึ้น ทางโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ จึงได้เปิดบริการหอผู้ป่วยหนักทั้ง 2 แห่ง โดยแบ่งอัตรากำลังแพทย์และพยาบาล ออกเป็น 2 ส่วน เพื่อรับมือกับ

สถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่นี้ โดยรวมศักยภาพหอผู้ป่วยโรคปอดรับได้จำนวน 11 เตียง รพ.ประสาทเชียงใหม่ รับได้จำนวน 10 เตียง รวม 21 เตียง สำหรับรับผู้ป่วยสีเหลือง สีส้ม และผู้ป่วยสีแดงที่ใส่เครื่องช่วยหายใจ และปัจจุบันที่ หอผู้ป่วยโรคปอด อาคารนิมมานเหมินทร์ มีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 รายแรกเข้ารับรักษาแล้ว เป็นหญิงตั้งครรภ์ผ่าคลอด ตรวจพบเชื้อด้วยวิธีแรพิดแอนติเจนเทสต์ ผลเป็นบวก จึงผ่าคลอดในห้องผ่าตัดผู้ป่วยโควิด-19 และหลังผ่าตัดแล้วได้นำลูกไปห้องสังเกตอาการ ส่วนผู้ป่วยย้ายไปหอผู้ป่วยโรคปอด อาคารนิมมานเหมินทร์ซึ่งปรับปรุงเสร็จทันเวลา”

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ในอนาคตหากสถานการณ์รุนแรงมากขึ้น รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทยศาสาตร์ มช. จะได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมจัดหาสถานที่อื่นเพิ่มเติมในการรองรับผู้ป่วยเหมือนในระลอกที่ 3 โดยตอนนี้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณะแพทยศาสตร์ มช. ได้เตรียมการ ในการหาพื้นที่บางส่วนในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ไม่ใช่หอพักนักศึกษาไว้ในเบื้องต้น เพื่อเป็นการช่วยเหลือทางจังหวัดหากมีจำนวนผู้ป่วยเพื่มมากขึ้นจะได้ดำเนินการได้ในทันที


ภาพของการระบาดอย่างรุนแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในครั้งนี้ เชื่อว่าในอนาคตอันใกล้จะมีเชื้อของสายพันธ์อินเดียซึ่งติดได้ง่าย ลงปอดได้มาก อัตราการเสียชีวิตสูงมากขึ้น หากไม่อยากเห็นภาพการระบาดแบบนี้เกิดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เราต้องช่วยกัน ไม่อยู่ที่แออัด ไม่ถอดหน้ากากพูดคุย ไม่ทานอาหารร่วมกัน ล้างมือบ่อยๆ รักษาระยะห่าง ขอความร่วมมือประชาชนปฏิบัติตามนี้อย่างเคร่งครัด และหากมีโอกาสได้รับการฉีดวัคซีน ขอให้สมัครเข้ารับวัคซีน เพื่อจะได้มีภูมิคุ้มกันระดับหนึ่ง ในการป้องกันการป่วยหนัก”

 

อบจ.เชียงใหม่เตรียมใช้เงิน 260 ล้านบาทจองวัคซีนโมเดอน่า 2 แสนโดส เพื่อฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเปราะบาง 5 กลุ่ม

องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ขานรับนโยบายทำทันที ใช้เงิน 260 ล้านบาทจองวัคซีนโมเดอน่า 2 แสนโดส เพื่อฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเปราะบาง 5 กลุ่มตามเงื่อนไขของสภากาชาดไทย ประสานประธานสภาฯเปิดประชุมเพื่อขออนุมัติจากสภาฯใช้เงินทุนสำรองสะสม ยันแผนการจัดสรรวัคซีนให้ผวจ.เชียงใหม่ในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดเป็นผู้ดำเนินการ


นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ตามที่สภากาชาดไทย ได้สั่งจองวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 โมเดอร์นาจำนวนหนึ่ง จากผู้แทนจำหน่ายในประเทศไทย ผ่านองค์การเภสัชกรรม เพื่อนำมาฉีดบริการให้ประชาชนกลุ่มเปราะบางและกลุ่มต่างๆ โดยไม่คิดมูลค่า ตามพันธกิจของสภากาชาดไทย และสภากาชาดไทยจะได้จัดสรรโควตาวัคชีนจำนวนหนึ่งให้แก่ “องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)” เพื่อนำไปฉีดให้กับประชาชนกลุ่มเปราะบางและกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่ โดยมีเงื่อนไขสำคัญว่าต้องดำเนินการฉีดให้แก่ประชาชนโดยไม่คิดมูลค่า และแผนการฉีดวัคซีนดังกล่าวต้องได้รับอนุมัติจาก คณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัด และเงื่อนไขอื่นๆที่กำหนดนั้น


นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ได้เผยว่าตนได้เข้าหารือกับนายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งได้จัดประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการวัคซีนที่ศูนย์ฯ ซึ่งตั้งอยู่ที่สำนักงานอบจ.เชียงใหม่แล้ว และผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ก็เห็นชอบตามข้อเสนอ ในเบื้องต้นองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ได้แจ้งความประสงค์เบื้องต้นไปแล้วว่าจะซื้อวัคซีนจำนวน 200,000 โดสๆ ละ 1,300 บาท รวมเป็นเงิน 260 ล้านบาท เพื่อนำไปฉีดบริการให้กับประชาชนตามเงื่อนไขที่สภากาชาดไทยกำหนด ขณะนี้ได้ประสานประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)เชียงใหม่ให้เรียกประชุมสภาในวันที่ 19 ก.ค.64เวลา 14.00 น.เพื่อขอมติจากสภาฯในการใช้เงินทุนสำรองสะสมของอบจ.เชียงใหม่ในการจัดซื้อวัคซีน เพราะหลังจากแจ้งความจำนงไปแล้ว อบจ.เชียงใหม่จะต้องโอนเงินให้กับทางสภากาชาดไทยภายในวันที่ 21 ก.ค.64 ตามที่สภากาชาดไทยกำหนด


นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายกอบจ.เชียงใหม่ กล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับการจัดซื้อวัคซีนดังกล่าว ทางอบจ.เชียงใหม่เป็นผู้ใช้งบประมาณของอบจ.มาดำเนินการ ส่วนการจัดสรรวัคซีนนั้นก็ต้องเป็นไปตามที่สภากาชาดไทยกำหนดเงื่อนไขคือกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 5 กลุ่ม ตามลำดับ ได้แก่ คนพิการ ผู้ป่วยติดเตียง สตรีตั้งครรภ์ ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนโควิด-19 เป็นอันดับแรก รองลงมาคือกลุ่มผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไป ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนโควิด-19 มาก่อน,บุคลากรทางการแพทย์และพยาบาล ในถิ่นทุรกันดาร,ผู้ที่ทำงานประจำอยู่ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ครูผู้สอนในโรงเรียนอนุบาล หรือครู อาจารย์ผู้ที่ทำหน้าที่สอนหนังสือในโรงเรียน ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนโควิด-19 มาก่อน,บุคลากรที่ต้องออกปฏิบัติงานสัมผัสประชาชน ตามโครงการฉีดวัคซีนขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนโควิด-19 มาก่อน และบุคคลที่ยังไม่สามารถรับการฉีดวัคซีนได้ เนื่องจากติดขัดระเบียบหรือกฎหมาย


**นายกอบจ.เชียงใหม่ กล่าวด้วยว่า เนื่องจากจำนวนวัคซีนที่สั่งซื้อ 2 แสนโดสนั้นอาจจะไม่ครอบคลุมกับจำนวน 5 กลุ่มที่มีอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ทั้งหมด ทั้งนี้อบจ.เชียงใหม่ได้เสนอให้ทางผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ร่วมกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดและคณะกรรมการบริหารวัคซีนเป็นผู้พิจารณาจัดสรร เพื่อไม่ให้เกิดข้อครหาว่าอบจ.จะนำวัคซีนดังกล่าวมาฉีดให้กับเครือญาติหรือพวกพ้อง จึงให้จังหวัดเป็นผู้บริหารแผนการขอรับการจัดสรรวัคซีนไม่เกี่ยวกับทางอบจ.เชียงใหม่ แต่ขอยืนยันว่าอบจ.เชียงใหม่ขานรับแนวทางที่สภากาชาดไทยเสนอมาทันทีเพราะตระหนักถึงคุณภาพชีวิตและมีความห่วงใยต่อพี่น้องประชาชนทุกๆ คน.//

เร่งแก้ปัญหาขยะโซนกลางของเชียงใหม่ หวั่นปัญหาผลกระทบหลายอำเภอ

เมื่อเวลา 15.00 น.วันที่ 18 มิ.ย.64 ที่ศูนย์จัดการขยะครบวงจร องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ บ้านป่าตึงหมู่ 1 ต.ป่าป้อง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ นายรัฐพล นราดิศร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยนายพิชัย เลิศพงษ์อดิศร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ และนายกิตติพัฒน์ กะวัง นายอำเภอดอยสะเก็ด นายสมชาติ วัฒนากล้า ผอ.สำนักการช่าง อบจ.เชียงใหม่ พร้อมตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่ ได้มาประชุมเพื่อรับฟังข้อร้องเรียนของชาวบ้านรอบโครงการศูนย์จัดการขยะฯ โดยมีผู้นำชุมชน สมาชิกอบจ.เชียงใหม่เขตอ.ดอยสะเก็ดและตัวแทนชาวบ้านร่วมแสดงความคิดเห็นและเสนอแนะด้วย ในเรื่องการกำจัดขยะแบบครบวงจร รวมถึงการดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะในพื้นที่ โดยในขณะนี้บ่อฝังกลบขยะในพื้นที่กว่า 40 ไร่บ่อใกล้เต็มจนล้นขึ้นมา จะต้องเร่งมีการแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยก่อนหน้านี้ทาง อบจ.เชียงใหม่ได้ทำการเปิดประมูลให้มีการกำจัดขยะแบบครบวงจร ซึ่งมีผู้เข้าประมูลเพียงรายเดียวที่มีความพร้อมทุกด้าน แต่ทาง อบจ.เชียงใหม่ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาอย่างรอบคอบอยู่ จึงมีการจัดประชุมส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดรวมทั้งความคิดเห็นของชาวบ้านในพื้นที่


นายไกรศักดิ์ จันทรสุกรี ผู้จัดการศูนย์จัดการขยะแบบครบวงจร อบจ.เชียงใหม่ บริษัท วีพีเอ็น คอลเล็กชั่นส์ จำกัด ได้ชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับศูนย์จัดการขยะฯ แห่งนี้ว่า ทางบริษัทวีพีเอ็น คอลเล็คชั่นส์ จำกัดได้เข้ามาบริหารจัดการขยะฯเมื่อปี 2548 โดยใช้ระบบคัดแยกและฝังกลบ โดยปริมาณขยะที่เข้าสู่โรงงานเฉลี่ยวันละประมาณ 100 ตันขณะที่กำลังการผลิตสามารถรองรับได้ถึง 300 ตันโดยรองรับขยะจากพื้นที่โซนกลาง 4 อำเภอคืออ.ดอยสะเก็ด สันทราย สันกำแพงและแม่ออน อย่างไรก็ตามเนื่องจากขณะนี้บ่อฝังกลบขยะที่มีเนื้อที่กว่า 40 ไร่ใกล้จะเต็มแล้วโดยคาดว่าจะสามารถรองรับขยะได้ถึงเดือนพ.ย.-ธ.ค.64 นี้เท่านั้นแม้จะมีการต่อคันดินขึ้นมาสูงถึง 5 เมตรแล้วก็ตาม

นายรัฐพล นราดิศร รองผวจ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ทางจังหวัดเชียงใหม่ได้รับร้องเรียนจากชาวบ้านถึงข้อกังวลเกี่ยวกับการจัดการขยะเพราะเกรงว่าหากศูนย์จัดการขยะฯแห่งนี้เต็ม ทางจังหวัดเชียงใหม่และอบจ.เชียงใหม่ได้มีแผนการรองรับหรือไม่อย่างไรซึ่งทางนายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผวจ.เชียงใหม่ได้มอบหมายให้ตนลงพื้นที่พร้อมนายกิตติพัฒน์ กะวัง นายอำเภอดอยสะเก็ด เพื่อร่วมประชุมและรับฟังความเห็นพร้อมกับนายพิชัย เลิศพงษ์อดิศร นายกอบจ.เชียงใหม่และคณะ ซึ่งทางราชการไม่ได้นิ่งนอนใจกับข้อกังวลของประชาชน จึงต้องลงพื้นที่มาเพื่อดูสถานที่จริงและรับฟังความเห็นต่าง ๆ

“จังหวัดเชียงใหม่ได้แบ่งโซนในการบริหารจัดการขยะออกเป็น 3 โซน และบ่อขยะที่ฝังกลบถูกวิธีและถูกต้องมี 3 แห่งคือที่ฝาง ซึ่งรับผิดชอบโซนเหนือ โซนกลางมีอบจ.เชียงใหม่เป็นหลักและโซนใต้มีที่บ้านตาล ซึ่งข้อเสนอหรือความเห็นจากการประชุมครั้งนี้ทางส่วนราชการจะนำไปพิจารณาเพื่อเร่งแก้ไขปัญหา ข้อห่วงใยต่างๆ เพื่อป้องกันแก้ไขไม่ให้เกิดขึ้นโดยเร่งด่วน”รองผวจ.เชียงใหม่ กล่าว


จากนั้นตัวแทนชาวบ้านและผู้นำชุมชนได้นำเสนอปัญหา ข้อกังวลของชาวบ้านในพื้นที่ โดยส่วนใหญ่เรียกร้องขอความชัดเจนเกี่ยวกับแผนบริหารจัดการขยะของศูนย์จัดการขยะของอบจ.เชียงใหม่ ซึ่งมีแผนที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะ เพราะเกรงว่าหากยืดเยื้อจะยิ่งส่งผลกระทบต่อชาวบ้านที่อาศัยอยู่โดยรอบ เนื่องจากศูนย์จัดการขยะฯแห่งนี้เปิดดำเนินการมานานและบ่อฝังกลบขยะใกล้จะเต็ม อีกทั้งปัจจุบันเกิดภาวะโรคโควิด-19 มีการใช้หน้ากากอนามัยแบบใช้แล้วทิ้งปะปนมากับขยะทั่วไปเป็นจำนวนมาก จึงเกรงว่าจะเกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคอย่างร้ายแรงและมีปัญหาในอนาคตอันใกล้ ซึ่งชาวบ้านอยากให้อบจ.เชียงใหม่เร่งดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะโดยเร็ว โดยตัวแทนชาวบ้านจะตั้งเป็นคณะกรรมการติดตามในเรื่องต่างๆขอการดำเนินการในเรื่องการกำจัดขยะแบบครบวงจรไปด้วย

ทางด้านนายพิชัย เลิศพงษ์อดิศร นายกอบจ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ทางอบจ.เชียงใหม่ไม่ได้นิ่งนอนใจหลังจากที่เข้ามารับตำแหน่งได้เรียกผู้เกี่ยวข้องมาประชุมหารือ ซึ่งการมาครั้งนี้เพื่อฟังความเห็นจากประชาชนว่ามีข้อเสนอแนะอย่างไรและก่อนที่จะมาก็ได้เข้าไปปรึกษาหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่มาแล้ว โดยอบจ.เชียงใหม่มีโครงการที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะ ซึ่งได้มีการเปิดประมูลหาผู้ลงทุนแล้ว โดยโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะแห่งนี้จะเป็นการก่อสร้างที่เอกชนเป็นผู้ลงทุน 100% ประมาณมูลค่าโครงการไว้ไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท และได้ตั้งราคากลางไว้ 1,800 ล้านบาท ซึ่งมีการแต่งตั้งคณะกรรมการทีโออาร์ทำการร่างเงื่อนไข กฎเกณฑ์ที่เป็นประโยชน์กับประชาชน โดยเฉพาะคุณสมบัติของบริษัทที่จะเข้ามาลงทุน และได้เผยแพร่เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการโดยทั่วไป ถึง 3 ครั้ง ก่อนที่จะประกาศคัดเลือกเอกชนด้วยการประกวดราคา


“โครงการนี้ก่อนการดำเนินการขออนุมัติโครงการจากกระทรวงมหาดไทยได้มีการดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียโดยรอบโครงการแล้ว ซึ่งประชาชนก็เห็นด้วย หลังจากได้รับการอนุมัติโครงการจึงได้เปิดให้มีการยื่นซองประกวดราคา และมีบริษัทที่ผ่านการพิจารณา 1 ราย ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่คณะกรรมการพิจารณาผลการคัดเลือกขอใช้เวลาในการพิจารณาคุณสมบัติอย่างละเอียด รอบคอบโดยคณะกรรมการ 7 คนประกอบด้วยข้าราชการอบจ. 4 คนและนักวิชาการอีก 3 คน กำลังพิจารณากันอยู่ จึงขอให้ความมั่นใจกับพี่น้องประชาชนว่าถ้าหากคุณสมบัติของบริษัทที่ยื่นซองมาถูกต้องครบถ้วนทุกประการก็จะไม่ดึงเรื่องไว้ แต่เพื่อให้เกิดความมั่นใจและถูกต้องร่วมกันขอให้พี่น้องประชาชนทำหนังสือสนับสนุนให้ทางอบจ.เชียงใหม่ดำเนินการอีกทางหนึ่งงด้วย ซึ่งหากทุกอย่างถูกต้องครบถ้วนและเกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชนทางอบจ.เชียงใหม่จะดำเนินการทันที”นายกอบจ.เชียงใหม่ กล่าวชี้แจง.

สูญเสีย..ช้างพังย่านุช วัย 83 ปีปางช้างแม่สา ล้มด้วยโรคชรา อยู่คู่ปางมา 45 ปี

เมื่อเวลา 06.35 น.วันที่ 13 พ.ค.นี้ นางอัญชลี กัลมาพิจิตร ผู้บริหารศูนย์อนุรักษ์ช้างแม่สา หรือปางช้างแม่สา อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ได้เผยว่าได้รับแจ้งจากทางสถานเลี้ยงช้างชรา ว่าเมื่อเวลาดังกล่าว ช้างพังย่านุช ช้างชราวัย 83 ปี ได้ล้มเสียชีวิตลงด้วยโรคชรา หลังจากรักษาตัวมาจากบาดแผลกดทับที่บริเวณสะโพกมานาน ถือว่าเป็นการสูญเสียช้างสำคัญที่อยู่คู่ปางช้างมาแต่เริ่มเปิด ถือว่าเป็นช้างเชือกที่มีบุญคุณต่อปางช้างจึงถือเป็นว่าการสูญเสียช้างสำคํญไปในครั้งนี้


ต่อมาเมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 13 พ.ค. ทางปางช้างได้นิมนต์พระสงฆ์จำนวน 4 รูปมาทำพิธีสวดบังสุกุลให้กับช้างพังย่านุช โดยทางนางอัญชลี ได้นำพนักงานควาญช้างประกอบพิธีอำลาส่งวิญญาณช้างให้ไปอยู่ยังภพที่ดี พร้อมกับก้มลงกราบอำลาช้างพังย่านุช

นางอัญชลี กัลมาพิจิตร ผู้บริหารศูนย์อนุรักษ์ช้างแม่สา ได้เผยว่าสำหรับปางช้างแม่สา มีช้างเหลืออยู่จำนวน 73 เชือก เมื่อสิ้นช้างพังย่านุชไปแล้วก็เหลือจำนวน 72 เชือกซึ่งยังมีช้างชราที่มีอายุมากที่สุดของปางช้างแม่สา หรือศูนย์อนุรักษ์ช้างแม่สาเพศผู้ได้แก่ พลายคำหมื่น เป็นช้างงาใหญ่ที่มีอายุมากที่สุดของปางช้างแม่สา พลายคำหมื่นมีอายุ 84 ปี โดยได้รับการดูแลเป็นอย่างดี เรียกว่าปู่หมื่น

ซึ่งในช่วงหลังนี้ทางปางช้างประสบปัญหาในเรื่องการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ทำให้การท่องเที่ยวหยุดชงักรายได้ปางช้างเป็นศูนย์ แต่ทางปางช้างต้องแบกภาระในการดูแลช้างที่เหลือ โดยในช่วง2 ปีโควิด3ระลอกต้องสูญเสียงบประมาณจำนวนถึง 41 ล้านบาทจนทุกวันนี้ต้องประสบปัญหาในดูแลช้างเป็นอย่างมากไม่ว่าอาหารการกินของช้างและควาญช้างเจ้าหน้าที่กว่าร้อยชีวิตอย่างไรก็ตามก็ต้องดูแลกันอย่างเต็มที่ต่อไป//

วิกฤตโควิด-19 ระลอก3 ศูนย์อนุรักษ์ช้างแม่สา มีช้าง 73 เชือก ต่อสู้ดิ้นรนจนใกล้หมดแรง

การแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอก3 สร้างความเดือดร้อนอย่างรุนแรงไปทุกหนทุกแห่งทั้งคนและสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์ใหญ่เช่นช้างที่อยู่ในปางช้างต่างๆสำหรับผู้ประกอบการที่มีช้างเลี้ยงไว้จำนวนมากอย่างศูนย์อนุรักษ์แม่สา หรือปางช้างแม่สา อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ซึ่งถือว่าเป็นปางช้างที่มีช้างเลี้ยงถึง 73 เชือกโดยโควิดรอบแรกยังส่งผลกระทบไม่มาก แต่รอบที่สองรุนแรงแต่ก็ยังทนอยู่ได้ แต่พอมารอบที่สาม เงินที่ใช้ประคับประคองในการดูแลคนและช้างเกลี้ยงหมดถึง 41 ล้านบาท ทำให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงอาจถึงขั้นทำให้ปางช้างแตกสลายลงเพราะไม่สามารถจะทำอะไรได้อีกต่อไป


ในเรื่องนี้ ผู้สื่อข่าวได้ถามนางอัญชลี กัลมาพิจิตร ผู้บริหารงานดูแลปางช้างแม่สา ได้ระบายด้วยความท้อใจและสิ้นหวังว่าตนไม่อยากพูด เพราะเวลานี้มันเกินเวลามาเยอะแล้ว จากแผนงานต่างๆ หรือ การเชิญประชุม ขอความร่วมมือ ทุกคนทำมาหมด ในเรื่องความรู้ วิชาการ ประสบการณ์ ตนว่าทุกคนมี อย่างแม่สา ตนก็ต้องเอาตัวเองให้รอด ดีที่มีแค่ 73 เชือก และ พ่อพันธุ์ตายหมด เลยไม่ผสมให้มีมากขึ้น เพราะมีมากขึ้น ก็ค่าใช้จ่ายมากขึ้น ทั้งค่าควาญ ค่ากิน พื้นที่ที่ต้องใช้ ยารักษาโรคต่างๆ เวลานี้ตนรู้ว่าทำอย่างไรจะแก้ปัญหา ถ้าตนมีเงิน ตนก็แก้ได้ทุกอย่าง

ทุกวันนี้คนเลี้ยงช้างลำบากทุกคน รวมถึงคนที่ต้องมีหน้าที่ดูแลช้างป่าด้วย ช้างบ้านปัญหาก็อย่างหนึ่ง ช้างป่าก็มีปัญหาอีกอย่างหนึ่ง แต่ถ้าไม่แยก เขาก็คือ”ช้าง”เหมือนกัน ช้างตาย คนตาย ไม่ได้เป็นผลดีต่อเราทั้งคู่ ผลกระทบมันลุกลามไปหมด เราต้องคอยแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพราะการแก้ให้ตรงจุดยังไม่มี สิ่งที่ทำคือการประคับประคองช้าง และคนไปพร้อมกับปัญหา ที่ตนพูดได้เต็มปาก เพราะรับผิดชอบช้างแม่สาอยู่ 73 เชือก คนเลี้ยงช้างอีกเป็นร้อยและช้างแม่สาก็มีช้างหลากหลายทั้งเพศและวัย มีความน่ารัก มีความน่าเกรงขาม มีความน่าอันตราย รวมอยู่ทั้งหมด ถามว่าเรามีทางเลือกไหม ไม่มี ใครเลี้ยงช้างหรือครอบครองช้างอย่างไร ย่อมรู้ดี

เรื่องช้างมันมีที่มาที่ไป ไม่ใช่อยู่ๆก็กลายมาเป็นปัญหา สมัยหนึ่งแย่งกันหา แย่งกันซื้อ เพราะทำเงินได้มาก แต่ตอนนี้ใครมีช้างก็มีแต่ภาระ คิดถึงวันเก่าๆแทบไม่ออก ใครมีช้างมาก บารมีมาก ตอนนี้ใครมีมาก เอาอาหารที่ไหนให้ช้างกิน ช้างกินได้ทั้งวันทั้งคืน จะไม่เลี้ยงก็ไม่ได้ นึกถึงความรัก ความผูกพัน ราคา มูลค่าทรัพย์สิน โควิดมาสามรอบ ท่องเที่ยวพังไปแล้ว ไม่มีเวลาที่แน่นอนว่าจะกลับมาอีกเมื่อไหร่ ช้างคงจะต้องถูกลดการดูแลลงมาก ทั้งค่าอาหาร ค่ายา คุณภาพที่เคยมี คือถูกเลี้ยงตามสภาพ ตามความสามารถของคนเลี้ยง และอะไรคือการช่วยเหลือกัน เอาตรงๆ คือตอนนี้ใครก็ช่วยอะไรใครไม่ได้ ทุกคนมีภาระของตนเองหมด

สรุปคือ ตัวใครตัวมันไปก่อน ขอให้ช้างอย่าอดมาก ถ้าอดมาก เขาจะอารมณ์เสีย อดมากๆอีกระดับเขาก็หมดแรง เพราะร่างกายต้องการวิตามิน แร่ธาตุเหมือนมนุษย์ ยิ่งในช้างที่เป็นพ่อพันธุ์ หรือช้างเพศผู้ อาหารต้องดีทั้งปริมาณและคุณภาพ เราจะหากันจากที่ไหน ในเวลานี้ อย่างตนต้องหาอาหารเข้าปางวันละ 9,000 – 10,000 กิโลกรัม หารเฉลี่ยกันไป จะอาศัยอาหารจากนักท่องเที่ยวซัก 10% ก็ไม่มีแล้ว การออกมาหาเงินจากชาวบ้านไปเลี้ยงช้างตนเอง ก็ดูไม่เหมาะ แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะคนเลี้ยงช้างทุกคน ต้องการความช่วยเหลือ ช้างตัวโตกินมาก กินอนาคตคนได้ก็แล้วกัน


“ในช่วงการแพรีระบาดไวรัสโควิดรอบแรก เราก็ยังมีช่องทางในการหาอาหารให้ช้างได้บ้างไม่ว่าจะเป็นการขายปุ๋ยมูลช้าง และปลูกหญ้าให้ช้างและช่องทางในการหาเงินมาเลี้ยงช้าง แต่เมื่อโควิดมาระลอกสองรายได้จากนักท่องเที่ยวเป็นศูนย์เราก็ยังสู้ไม่หยุด และธุรกิจเกี่ยวกับปุ๋ยมูลช้างที่จะมีการซื้อขายกัน คนที่จะเข้ามาร่วมในธุรกิจก็ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จนต้องยุติกันหายไปเลย ซึ่งโควิดมารอบที่สาม หมดหนทางต่อสู้จริงๆในขณะนี้ต้องลดค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะอาหารช้างก็ต้องลดปริมาณลงหมด ในครั้งนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่จะรักษาปางช้างไว้ต่อไปได้หรือไม่ รอบสามมันสาหัสมาก”นางอัญชลีกล่าวอย่างท้อใจ


สำหรับผู้ใจบุญสามารถช่วยเหลือช้างของศูนย์อนุรักษ์ช้างแม่สา โทรติดต่อสอบถามเพิ่มเติม หรือแจ้งรายละเอียดการโอนเงินได้ที่ 081 882 3738 , 053 206 247-8 นางรัตนา ศรีหมอก ผู้จัดการปางช้างแม่สา หรืออุดหนุนซื้อตะกร้าอาหารเลี้ยงช้างได้​ง่ายๆผ่านออนไลน์ โดยโอนผ่าน​บัญชี ชื่อ มูลนิธิอนุรักษ์ช้างไทยElephant Conservation Foundation ก็สามารถซื่ออาหารเลี้ยงช้างได้//

โค้งสุดท้าย ชิงตำแหน่งนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ “เฮียหน้อย”ชาตรี เบอร์ 3 ปล่อยหมัดเด็ด อดีตนายกฯลงการันตีเพื่อไทย

มาถึงโค้งสุดท้ายในการหาเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ โดยเฉพาะเต็ง 1 ที่จะคว้าตำแหน่งนายกเทศมนตรีเทศบาลนครเชียงใหม่ เบอร์ 3 นายชาตรี เชื้อมโนชาญ หรือเฮียหน้อย สมัครในกลุ่มเพื่อไทยเพื่อเมืองเชียงใหม่ พาทีมออกลุยหาเสียงในพื้นที่อย่างหนักโดยในครั้งนี้มีนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี สังกัดพรรคเพื่อไทยลงมาช่วยเดินหน้าเสียงการันตี ชนิดเข้าถึงชุมชนต่างๆ

โดยชูนโนบายความสุขที่ยั่งยืนเพื่อคนเชียงใหม่ ความสุข 5 ด้าน เศรษฐกิจมั่งคั่ง คุณภาพชีวิตที่ดี เมืองสีเขียว เมืองปลอดภัย และเมืองอัจฉริยะ และเชียงใหม่เมืองแห่งวัฒนธรรมสืบฮีตสวมฮอยวัฒนธรรมประเพณีล้านนา ยกระดับคุณภาพชีวิตในทุกๆมิติ ท่องเที่ยวเด่นเน้นชุมชน การศึกษาต้องมีมาตรฐานนายชาตรี ได้เผยว่าจากการลงพื้นที่มาชนิดเดินทุกซอกทุกมุมของเมืองเชียงใหม่แล้ว จนรู้ปัญหาบ้านเมืองเชียงใหม่มาเป็นอย่างดีและการเป็นผู้บริหารเทศบาลมาหลายสมัย จึงมีความมั่นใจว่านโยบายต่างๆสามารถทำได้ทันทีโดยเฉพาะตนเป็นคนอยู่ในเมืองมาตั้งแต่เกิดปัญหาบ้านเมืองในเขตเทศบาลจุดไหนที่จะต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง จึงอาสามารับใช้ถิ่นเกิดในครั้งนี้และมั่นใจว่านโยบายต่างๆตนทำได้อย่างแน่นอน

เชียงใหม่”ฮอม”เชิญผู้สมัครนายกเทศบาลนครเชียงใหม่ 7 คนแสดงวิสัยทัศน์เพื่อพัฒนาเมืองเชียงใหม่

เมื่อเวลา 18.00 น.วันที่ 21 มี.ค.ที่ลานประตูท่าแพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ กลุ่มเชียงใหม่”ฮอม” องค์กรภาคเอกชนร่วมพัฒนาเมืองเชียงใหม่ ได้จัดเวทีให้กับผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกเทศมนตรีเทศบาลนครเชียงใหม่จำนวน 7คนมาร่วมแสงดงวิสัยทัศน์ในด้านต่างๆเพื่อพัฒนาเมืองเชียงใหม่ ท่ามกลางชาวเชียงใหม่ที่ให้ความสนใจมาร่วมฟังจำนวนมากและมีการไลฟ์สดให้ชาวเชียงใหม่ได้ฟังและร่วมแสดงความคิดเห็นว่าควรจะพัฒนาการในด้านไหนโดยเฉพาะปัญหาหมอกควันไฟป่าค่า PM2.5 ที่เกิดขึ้น

โดยมีผู้สมัครนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่มาร่วมแสดงวิสัยทัศน์จำนวน6 คนมีนายพรชัย จิตรนวเสถียร ลงสมัครในนามกลุ่มฮักกั๋นเจียงใหม่ เบอร์ 1, นายอัศนี บูรณุปกรณ์ กลุ่มเชียงใหม่คุณธรรม เบอร์ 2, นายชาตรี เชื้อมโนชาญ กลุ่มเพื่อไทยนครเชียงใหม่ เบอร์ 3, นายธีรวุฒิ แก้วฟอง ลงในนามกลุ่มเชียงใหม่กว่า สังกัดคณะก้าวหน้า เบอร์ 4, นายกฤษณะ พรมบึงรำ ลงในนามกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 เบอร์5 และนายภวฤทธิ์ กาญจนเกต กลุ่มทางเลือกใหม่ เบอร์ 6 ส่วนนายยงยุทธ ยงยศ เบอร์ 7 กลุ่มอิสระ ไม่มาร่วมในครั้งนี้

ส่วนการแสดงวิสัยทัศน์ นายพรชัย จิตรนวเสถียร กลุ่มฮักกั๋นเจียงใหม่ เบอร์ 1ได้ชูประเด็น พรชัย ทำทันที ท่องเที่ยวดีมีเงินใช้ เชียงใหม่ เที่ยวได้ทุกวันมาได้ทุกเดือน อยู่ได้ทั้งปี ผลักดันขนส่งมวลชนสาธารณะ


นายอัศนี บูรณุปกรณ์ กลุ่มเชียงใหม่คุณธรรม เบอร์ 2 ได้ชูประเด็นการสร้างอาชีพในชุมชนเช่นกาดนัดชมชุน เรื่อง อสม.ในชุมชนให้เข้มแข็งและในเรื่องสุขภาพจะทำให้ดีขึ้นจะตั้งศูนย์สุขภาพในทุกๆแขวง ในเรื่องการท่องเที่ยวจะมีการรับมือเป็นอย่างดีในการต้อนรับรชนักท่องเที่ยวที่จะกลับมา พร้อมสร้างสวนสุขภาพเพื่อเป็นปอดที่ดีของเมืองเชียงใหม่ต้องสะอาดปลอดภัยทุกคึนสามารถใช้ได้

นายชาตรี เชื้อมโนชาญ กลุ่มเพื่อไทยนครเชียงใหม่ เบอร์ 3 ได้ชูประเด็นสร้างเศรษฐกิจรากฐานให้แข็งแกร่ง ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ส่งเสริมการท่องเที่ยว ส่งเสริมวัฒนธรรมประเพณีและศาสนา พัฒนาการศึกษา สร้างเมืองสีเขียว สร้างเมืองอัจฉริยะ


นายธีรวุฒิ แก้วฟอง กลุ่มเชียงใหม่กว่า สังกัดคณะก้าวหน้า เบอร์ 4 ได้ชูประเด็น อยู่ม่วน กิ๋นดี มีสุข เสริมสร้างการศึกษา เศรษฐกิจ สุขภาพ คุณภาพชีวิต การเดินทาง วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม พื้นทีสาธารณะและเทคโนโลยี่

นายกฤษณะ พรมบึงรำ ลงในนามกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 เบอร์5 ได้มุ่งเน้นนโยบาย 1ปีซ่อม 3 ปี สร้าง จะแก้ปัญหาที่หมักหมมของเชียงใหม่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม พื้นที่การค้าขายให้กับพี่น้องชาวเชียงใหม่ เพิ่มพื้นที่เพิ่มรายได้ให้กับชาวเชียงใหม่โดยจะใช้เวลา 1 ปีแก่ปัญหาให้กับเมืองเชียงใหม่และ 3 ปีสร้างเมืองเชียงใหม่ให้ดีที่สุดในทุกๆด้าน


นายภวฤทธิ์ กาญจนเกต กลุ่มทางเลือกใหม่ เบอร์ 6 ได้ชูนโยบายเรื่องงบประมาณโดยประชาชนเพื่อประชาชนที่จะบริหารเทศบาลนครเชียงใหม่ไปในทิศทางใดให้ดีขึ้นและถูกต้อง ประชาชนจะเป็นผู้ดูงบประมาณว่าจะนำไปพัฒนาในด้านใดเพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุดเป็นหัวใจสำคัญให้การพัฒนาบ้านเมืองอย่างถูกวิธีจะต้องมีการจัดตั้งสภาประชาชน สภาเมืองขึ้นมาเพื่อดูแลร่วมกันในการใช้งบประมาณของเทศบาลนครเชียงใหม่ใช้ทำอะไรบ้าง

แต่ละคนล้วนแต่เป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์ ในด้านต่างๆที่จะสามารถพัฒนาเมืองเชียงใหม่ให้เดินหน้าได้ตามแนวทางของแต่ละคน โดยยังมีหลายเรื่องที่มีการแสดงวิสัยทัศน์ในการแก้ไขปัญหาไม่ว่าจะเป็นการจัดการกับหมอกควันไฟป่า ที่ก่อเกิดฝุ่นพิษ PM2.5 และในเรื่องการจัดระบบระเบียบวัฒนธรรมประเพณี และระบบการขนส่งมวลชน เพื่อให้เมืองเชียงใหม่สู่ความเจรฺิญทั้งด้านเศรษฐกิจควบคู่การอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีและจุดขายของเมืองก็คือการท่องเที่ยว ที่ทุกคนที่อาสามาเป็นนายกเทศมนตรีเทศบาลนครเชียงใหม่ มั่นใจใครที่ได้โอกาสรับเลือกจะต้องทำได้อย่างแน่นอน

การประชุมสัมมนาวิชาการ กัญชาทางการแพทย์นานาชาติ ครั้งที่ 1“กัญชา กัญชง กระท่อม พืชเศรษฐกิจเพื่อการส่งออก” หอประชุม แคนนาบิส ซิตี้ ฮอลล์ เวียงอโรคยา เดอ สารภี

การประชุมสัมมนาวิชาการ กัญชาทางการแพทย์นานาชาติ ครั้งที่ 1“กัญชา กัญชง กระท่อม พืชเศรษฐกิจเพื่อการส่งออก” หอประชุม แคนนาบิส ซิตี้ ฮอลล์ เวียงอโรคยา เดอ สารภี

ดร.แก้มหอม ณ ล้านช้าง หรือแม่มดกัญชา พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันแถลงข่าวการจัดประชุมสัมมนาวิชาการ งานวิจัยกัญชาทางการแพทย์นานาชาติครั้งที่ 1 เชียงใหม่ วันครอบครัวกัญชาไทย ร่วมกับภาคีกัญชาแห่งชาติ เพื่อนำความรู้แบบแพทย์องค์รวมคือ การแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์ทางเลือก แพทย์ผสมผสาน ทั้งจากประเทศไทย ประเทศเพื่อนบ้าน และทั่วโลก มาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ รวมถึงเคสรักษาจริง

ดร.แก้มหอม ณ ล้านช้าง วัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีในการพัฒนางานวิชาการด้านการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์ทางเลือก ให้มีคุณภาพมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งขับเคลื่อนเครือข่ายให้มีความหลากหลายทั้งในระดับท้องที่ และระดับชาติ ให้เกิดการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ประสบการณ์ในการพัฒนางานด้านวิชาการ โดยมีกำหนดในการจัดงานระหว่างวันที่ 16-17-18 เมษายน 2564 ณ ศูนย์เรียนรู้กัญชาศาสตร์แห่งเอเชีย (Global Medical Cannabis Academy ) เวียงอโรคยา เดอ สารภี อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีหัวข้อการในการประชุมวิชาการมีห้องประชุม Cannabis City Hall และการประชุมวิชาการห้องย่อย (Symposium Section) จำนวน 3 ห้อง ทั้งในรูปแบบ On Site และ Online มีการถ่ายทอดผ่านระบบดาวเทียม Galaxy 19, ครอบคลุมทวีปอเมริกา แคนนาดา อลากาส ฮาวาย และทางเว็บไซต์ แอพพลิเคชั่น เฟสบุ๊ค ยูทูป สื่อแมกกาซีน และทีมงานออสการ์ ฮอลลีวูด รวมทั้งเครือข่ายผู้ร่วมสัมมากว่า 20 ประเทศ 100 กว่าองค์กร

ทั้งนี้ เพื่อให้ก้าวทันสถานการณ์โลกปัจจุบัน ในการประชุมสัมมนาวิชาการฯ ครั้งนี้ ได้จัดให้มีหัวข้อการอภิปราย เสวนาประเด็นเรื่องราว ข้อกฎหมาย ต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ กฎหมายการขนส่งระหว่างประเทศ อัพเดทที่สุด จากประสบการณ์และสถานการณ์จริง รวมทั้งหัวข้อที่อยู่ในกระแสความสนใจของประชาชนในปัจจุบันทั้งในประเทศไทย ประเทศเพื่อนบ้าน และทั่วโลก เรื่อง “กัญชา กัญชง กระท่อม” องค์ความรู้ที่สามารถขยายผลในกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ตลาดอุตสาหกรรมสมุนไพร เช่น“แบบจำลองธุรกิจกัญชง กัญชา” เน้นย้ำการปลูกเพื่อทำตลาดต่างประเทศ ซึ่งมีความต้องการที่หลากหลายและแตกต่างกันออกไป

ดร.แก้มหอม ณ ล้านช้าง เวทีหลักในการประชุมครั้งนี้ได้แก่หอประชุม Cannabis City Hall เวทีกลางแจ้งกิจกรรมด้านนอก เวทีสภากัญแฟร์เพื่อประชาชน โดยในแต่ละเวทีจะมีวิชาการสื่อสารกับภาคประชาชน บุคลากร รวมถึงชาวบ้าน ผู้ป่วยจริง ให้ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์การใช้ แนวทางการเดินหน้าด้านการผลักดัน ร่าง พ.ร.บ. พืชเสพติดให้คุณทางการแพทย์ กฎหมายจากภาคประชาชน นิทรรศการองค์ความรู้สมุนไพร นิทรรศการจิตอาสาหลาย 1,000 เคสที่ร่วมโครงการ จากภาคประชาชน โครงการคลินิกสงฆ์ ให้คำแนะนำในด้านโภชนาการสำหรับผู้ถวายและผู้รับ การตรวจสุขภาพร่างกายแบบแพทย์แผนไทย แพทย์องค์รวม แพทย์ผสมผสาน รวมถึงการบรรยายเรื่อง ธนาคารน้ำ จุดกำเนิดของชีวิต นวัตกรรมที่ยั่งยืน การรณรงค์เรื่องลมหายใจ PM2.5 กิจกรรมการประกวดวาดภาพ และกิจกรรมเพื่อสังคม คอนเสิร์ตจากศิลปินร้องดังแบบเต็มวง และศิลปินในดวงใจ และกิจกรรมสร้างสรรค์อื่นๆอีกมากมาย

ทั้งนี้โดยมุ่งหวังให้เกิดการความเข้าใจอย่างถูกต้อง ข้อดี ข้อเสียของกัญชา เพื่อเป็นแนวทางในการนำไปใช้ในทางการแพทย์ให้ถูกต้องและปลอดภัย ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดก่อนที่จะปลดล๊อคกัญชาให้ใช้ได้ทั่วประเทศไทยในอนาคตคณะผู้จัดงานประชุมสัมมนาครั้งนี้ หวังผลที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้จากทุกมุมมอง เพื่อจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน บุคลากรทางการแพทย์ นักวิชาการ นักวิจัย ผู้ประกอบการ และผู้มีหน้าที่ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งวิสาหกิจชุมชน และประชาชนทั่วไปได้เข้าใจอย่างทั่วถึง “กัญชา กัญชง กระท่อม เกษตรอัจฉริยะสู่ตลาดโลก วิสาหกิจชุมชนสู่พืชเศรษฐกิจเพื่อส่งออก”หัวข้อประชุมสัมมนายังมีหลายหน่วยงานองค์กรติดต่อเข้ามาเพิ่มเติม ซึ่งจะมีการสรุปคณะจัดงานประชุมในวันที่ 14 มีนาคม 2564 และจะดำเนินการจัดแถลงการณ์จัดงานในเวลาต่อไป

ดร.แก้มหอม ณ ล้านช้าง จากประสบการณ์จัดงานกัญชาโลกเมื่อ 3 ปีก่อนได้มีการจัดงานที่ มีผู้ร่วมงานประมาณ 400,000 คน แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันเนื่องจากสถานการณ์โควิดที่ผ่านมาทำให้ประเทศต่างๆ ที่ไม่สามารถจัดงานในพื้นที่ได้ ต้องจัดผ่านช่องทางออนไลน์ ดังนั้นการจัดงานครั้งนี้จึงได้รับความสนใจมากที่สุดจากทั่วโลก เพื่อนำคลิปการจัดงานไปเปิดร่วมในประเทศและองค์กรหน่วยงานต่างๆที่เตรียมจัดงาน 420 ในวันกัญชาทั่วโลก การจัดงานนี้ได้รับความสนใจจากผู้ที่ตั้งใจเดินทางมาในพื้นที่ และ ทาง Webinar มากกว่า 1,000,000 คน ซึ่งมีการเริ่มเผยแพร่กิจกรรมเป็นระยะเวลาทั้งหมด 3 วัน ณ เวียงอโรคยา เดอ สารภี ตำบลชมภู อำเภอสารภี เชียงใหม่ พื้นที่ 52 ไร่ โดยได้รับเกียรติจาก หม่อมราชวงศ์จิราคม กิติยากร เป็นประธานจัดงานครั้งนี้

 

วันช้างไทย 13 มีนาคม 2564″รำลึกถึงสัตว์คู่บ้านคู่เมืองที่ปางช้างแม่สาพร้อมเปิด“ศูนย์อนุรักษ์ช้างแม่สา”

ตามที่รัฐบาลได้มีประกาศในราชกิจจานุเบกษา ประกาศให้ทุกวันที่ 13 มีนาคม เป็นวันช้างไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 เพื่อให้คนไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญของช้างและได้ร่วมกันระลึกถึงช้าง สัตว์คู่บ้านคู่เมือง อีกทั้งเป็นสัตว์สัญลักษณ์ประจำชาติไทย ปางช้างแม่สาได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของช้างและได้ริเริ่มจัดงานมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543

โดยใช้ชื่องานว่า “งานส่งเสริมสืบสานสายพันธุ์ช้างไทย” โดยมีรูปแบบการจัดงานที่ยิ่งใหญ่ ด้วยการจัดบายศรีสู่ขวัญ และเลี้ยงสะโตกอาหารช้าง รวมถึงมีกิจกรรมที่มีประโยชน์และสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างช้างกับคนมาโดยตลอด โดยได้จัดงานวันช้างไทยอย่างต่อเนื่องมาทุกปี ครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งที่ 21 ของการจัดงาน และมีตำนานมาอย่างยาวนานคู่กับจังหวัดเชียงใหม่

 

โดยปางช้างแม่สาได้ก่อตั้งโดยคุณชูชาติ กัลมาพิจิตร ในปี พ.ศ. 2519 ในปีนี้จึงเป็นปีที่ปางช้างแม่สาจะครบ 45 ปีของการเป็นปางช้างแม่สา ซึ่งถือได้ว่าเป็นแหล่งเลี้ยงช้างขนาดใหญ่ของประเทศไทย มีจำนวนช้างเลี้ยงรวมทั้งสิ้น 73 เชือก ทั้งเพศผู้ เพศเมีย หลากหลายวัย โดยช้างเหล่านี้อาศัยอยู่ที่ปางช้างแม่สามาอย่างยาวนาน กลายเป็นครอบครัวใหญ่ และกว่า 40 ปีที่ปางช้างแม่สาได้คอยต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก ได้ก่อให้เกิดรายได้ด้านการท่องเที่ยวอย่างมหาศาล มีผู้ประกอบการที่มีความเกี่ยวข้องกับปางช้างแม่สามากมายทั้งในประเทศและต่างประเทศ

สำหรับทางด้านการบริหารจัดการปางช้าง ปางช้างแม่สาเคยได้รับมาตรฐานปางช้างจากทั้งกรมปศุสัตว์ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ถือเป็นเครื่องหมายยืนยันได้ว่าเรามีความเป็นมาตรฐานในทุกๆด้าน และเป็นแหล่งเลี้ยงช้างที่สมบูรณ์ มีบุคลากรทุกแผนกที่จำเป็นต่อการเลี้ยงช้างอย่างครบถ้วน เช่น แผนกควาญช้าง แผนกพืชอาหารช้าง แผนกรักษาช้าง เรามีสัตวแพทย์ จำนวน 3 คน รวมถึงมีคลีนิครักษาช้าง มียา และเวชภัณฑ์ที่จำเป็นต่างๆทั้งแผนโบราณและแผนปัจจุบัน เราเลี้ยงช้างด้วยความรักและเอาใจใส่มาตลอด 40 กว่าปี จึงทำให้เรามีประสบการณ์ กลายมาเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องช้างและเราต้องการแบ่งปันสิ่งต่างๆให้กับสังคมไทย

วันช้างไทยในปีนี้จึงเป็นปีที่มีความพิเศษอย่างยิ่ง เนื่องจากปางช้างแม่สา จะทำการเปิดป้าย”ศูนย์อนุรักษ์ช้างแม่สา” หรือ Maesa Elephant Conservation Park อันเป็นการเริ่มต้นที่จะพัฒนาปางช้างแม่สาให้ก้าวจากการเป็นเพียงแหล่งท่องเที่ยวธรรมดาขึ้นเป็นศูนย์กลางของการเลี้ยงดูช้างเพื่อการอนุรักษ์ ของจังหวัดเชียงใหม่ ที่บริหารงานโดยภาคเอกชน และมูลนิธิอนุรักษ์ช้างไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อคืนปางช้างแม่สาให้เป็นของประชาชนคนไทยทุกคน สามารถเข้ามาชมช้างได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายตลอดไป

สถานที่แห่งนี้จะเป็นที่ที่คนกับช้างมาพบกันได้ง่ายขึ้น เพื่อเริ่มต้นผูกสัมพันธ์ มีความรักและความเมตตาต่อกัน อันจะนำไปสู่ความสำเร็จในการอนุรักษ์ช้างไทย และด้วยการสนับสนุนของท่านทั้งหลาย ศูนย์อนุรักษ์ช้างแม่สา จะประกอบไปด้วย พิพิธภัณฑ์ โรงพยาบาลช้าง วิทยาลัยควาญช้าง และเธียร์เตอร์ หรือโรงฉายภาพยนตร์ รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ซึ่งจะต้องใช้เม็ดเงินมหาศาล เมื่อสำเร็จแล้ว ศูนย์อนุรักษ์ช้างแม่สา หรือ Maesa Elephant Conservation Park จะกลายเป็นไฮไลต์และจุดเช็คอินที่ไม่เหมือนใครของจังหวัดเชียงใหม่

ซึ่งที่ผ่านมาปางช้างแม่สาได้ยกเลิกการแสดงช้าง ยกเลิกการนั่งช้างบนแหย่งช้าง หันมาเริ่มต้นปลดโซ่หรือพันธนาการช้าง และได้ต่อสู้กับวิกฤตการณ์โควิด-19 มาถึง 2 รอบ เพื่อรักษาปางช้างแม่สาให้คงไว้ ก็ขอให้ติดตามการต่อสู้ของทีมงานปางช้างแม่สาจะสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับวงการช้างไทย เป็น New Normal อย่างแท้จริง


สำหรับกำหนดการงานวันช้างไทย วันเสาร์ที่ 13 มีนาคม 2564 ที่ปางช้างแม่สา อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ช่วงเช้ามีพิธีทำบุญ ถวายเพลพระสงฆ์จำนวน 9 รูป พระสงฆ์ประพรมน้ำมนต์ให้ช้างและควาญ และในเวลา 13.00 น. ทำพิธีเปิดป้าย “ศูนย์อนุรักษ์ช้างแม่สา” Maesa Elephant Conservation Park โดยนายชัยณรงค์ นันตาสาย นายอำเภอแม่ริม เป็นประธาน

ในเวลา14.00 น. เปิดงานวันช้างไทยประจำปี 2564 ณ ลานแสดงช้างเดิมของปางช้างแม่สา โดยพิธีมอบเกียรติบัตรให้แก่พนักงานและควาญช้างดีเด่น ของปางช้างแม่สา พร้อมมอบอาหารช้างให้แก่ช้างจำนวน 73 เชือกของปางช้างแม่สา พร้อมเปิดตัวผู้ร่วมสนับสนุน”ศูนย์อนุรักษ์ช้างแม่สา” แถลงถึงวัตถุประสงค์และแนวทางการดำเนินงาน การจัดตั้งศูนย์ฯ เพื่อมอบประโยชน์คืนให้สังคมไทย รวมถึงความร่วมมือในการอนุรักษ์ช้างไทย