สกู๊ปข่าว » มช. สืบสานประเพณี “รับน้องขึ้นดอย” 2566 รวมใจลูกช้างสู่เส้นทางแห่งสปิริต ตลอดระยะทางกว่า 12 กิโลเมตร

มช. สืบสานประเพณี “รับน้องขึ้นดอย” 2566 รวมใจลูกช้างสู่เส้นทางแห่งสปิริต ตลอดระยะทางกว่า 12 กิโลเมตร

18 พฤศจิกายน 2023
430   0

Spread the love

เมื่อเวลา 06.30 น.วันที่ 18 พ.ย.นี้ ทางสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดกิจกรรมรับน้องขึ้นดอย 2566 นำลูกช้าง 23 คณะ 1 วิทยาลัยพหุวิทยาการและสหวิทยาการ กว่า 30,000 คน ร่วมสืบสานประเพณีการนำน้องใหม่ไปนมัสการพระบรมธาตุดอยสุเทพ “รับน้องขึ้นดอย” โดยมีนายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมทั้ว ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมเปิดงานพร้อมเดินนำศิษย์เก่าและนักศึกษาเดินขึ้นดอยโดยแต่ละขบวนและคณะจัดแต่งอย่างสวยงามตระการตาและแสดงความรักและความสามัคคีอย่างเหนียวแน่นระหว่างเดินเท้าขึ้นสู่ดอยสุเทพของพี่น้องนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน


.
สำหรับ“รับน้องขึ้นดอย” เป็นประเพณีที่สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2507 เป็นต้นมาจนถึงปี พ.ศ.2566 รวมเป็นเวลา59ปี ที่ร่วมกันเดินจาก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ถึงวัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร โดยนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่จะร่วมใจกันเดินขึ้นไปนมัสการพระธาตุดอยสุเทพสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองเชียงใหม่ เพื่อความเป็นสิริมงคล เป็นระยะทางกว่า 12 กิโลเมตร นับว่าเป็นการรับน้องที่สร้างสรรค์ และได้รับความสนใจจากสาธารณชนทั่วประเทศที่ปฏิบัติสืบเนื่องต่อกันมาทุกปี


.
ในปี 2566 นี้ สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้น้อมนำเรื่องราวเสี้ยวหนึ่งของสังคมเมืองเชียงใหม่เมื่อราว 100 ปีที่ผ่านมาเป็นธีมของงาน จากความงดงามของประวัติศาสตร์ในช่วงศตวรรษที่ 20 เป็นช่วงเวลาสำคัญของเมืองเชียงใหม่ สังคมแบบยุคจารีตกำลังก้าวผ่านสู่สังคมโลกสมัยใหม่ อันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงระบบบริหารราชการแผ่นดิน การขยายตัวของโครงข่ายระบบคมนาคมและการสื่อสาร การปรับเปลี่ยนของเศรษฐกิจโลก ตลอดจนความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ส่งเสริมการอนุรักษ์การถ่ายทอดภูมิปัญญา และประวัติศาสตร์ท้องถิ่น อันเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ด้านล้านนาสร้างสรรค์ ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่


.
ขบวนรับน้องขึ้นดอย 2566 เป็นความร่วมใจกันของนักศึกษา 23 คณะ และ 1 วิทยาลัยพหุวิทยาการและสหวิทยาการ พร้อมด้วยนักศึกษาเก่าที่สำเร็จการศึกษาไปแล้ว กว่า 30,000 คน โดยมีการอัญเชิญเครื่องสักการะพระธาตุ พร้อมทั้งสวมชุดพื้นเมืองอันเป็นเอกลักษณ์ของชาวเชียงใหม่ เพื่ออนุรักษ์ประเพณีอันงดงามของวัฒนธรรมล้านนาอย่างสวยงาม


.
พร้อมกันนี้ รับน้องขึ้นดอย 2566 ยังได้ตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคม ในด้านการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เพื่อให้สอดคล้องกับการเป็นมหาวิยาลัยที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral University) ภายใต้แคมเปญ “My Waste, My Responsibility ขยะใครสร้าง คนนั้นรับผิดชอบ” โดยได้กำหนดจุดพักกินข้าว อย่างเป็นกิจลักษณะ และจุดทิ้งขยะระหว่างทาง ถึง 11 จุด เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสามารถปฏิบัติตนตามวิธีการที่ถูกต้อง

ในกิจกรรมขึ้นดอยปีนี้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีความตั้งใจอย่างยิ่งในการเลือกสรรและขอความร่วมมือผู้สนับสนุนของแจกที่เป็นบรรจุภัณฑ์ที่สามารถส่งคืนเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้หลังจากจบกิจกรรม ได้แก่ กระป๋องอลูมิเนียม ขวดแก้ว และขวดพลาสติก นอกจากนี้ยังรณรงค์ให้เลือกใช้กล่องบรรจุภัณฑ์อาหารจากวัสดุธรรมชาติเช่น กล่องชานอ้อยแทนกล่องกลาสติก ขยะที่ถูกแยกประเภทเหล่านั้นจะถูกจัดการตามกระบวนการต่ออย่างถูกต้อง

โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ช่วยลดขยะไปฝังกลบสาเหตุหนึ่งของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ขยะเศษอาหารที่คัดแยกแล้วจะถูกส่งไปผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ เพื่อนำไปใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า และก๊าซไบโอมีเทนเพื่อใช้กับยานพาหนะ ตลอดจนกิจกรรมนี้เน้นย้ำให้เป็นการรับน้องอย่างสร้างสรรค์ จะไม่มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และขอความร่วมมือไปยังรุ่นพี่ศิษย์เก่าไม่นำเครื่องดื่มมึนเมาเข้ามาในกิจกรรมสำคัญของมหาวิทยาลัย


.ประเพณีรับน้องขึ้นดอยยังคงเป็นหนึ่งในกิจกรรมรับน้องที่นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่หลาย ๆ คนได้ประทับตราไว้ในดวงใจว่าครั้งหนึ่งได้แสดงสปิริตของความเป็นลูกช้างได้อย่างเต็มภาคภูมิ

(ขอบคุณภาพข่าวจาก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)